ตำราเล่มใหญ่ของลูก
บทความนี้ถูกเขียนขึ้นเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2554
ถ้าจำไม่ผิด แม่ยุ้ยเขียนเพื่อนำไปลงวรสารของโรงเรียนแรกของลูก
เมื่อคืนไปอ่านเจอจากไดอารี่เก่า เห็นว่า น่าจะมีแง่คิดบ้าง จึงนำมาให้อ่านกันคะ
——————————————————————-
ครอบครัวนี้ เป็นหน่วยย่อยเล็ก ๆ ของสังคมเช่นกัน
ซึ่งแม่ยุ้ยตั้งใจจะสร้างลูกปให้เป็นหนึ่งหน่วยเล็ก ๆ ที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้นในสังคม
ตามกำลังที่แม่คนหนึ่งจะสามารถทำได้ ด้วยกำลังกาย และกำลังใจ
บ้านเราใช้ “ความจริง” ในการสอนลูก ฟังดูอาจจะแปลกไปสักหน่อย
แต่เราใช้ “ความจริง” กล่อมเกลาเด็กของเราทีละเล็ก ทีละน้อย
ลูกบ้านนี้ ไม่เคยได้อะไร เวลาที่อยากได้สักเท่าไหร่
แต่ลูกจะได้เมื่อเราพร้อมจะได้มันมา นั่นคือ แม่จะบอกเสมอว่า
ตอนนี้เราจะต้อง เก็บเงินไว้จ่ายค่าเทอม ตอนนี้แม่มีเงินเหลือพอจะซื้อของเล่นแล้ว
แล้วการได้มาซึ่งของเล่น มีกติการ่วมกัน มีเหตุ มีผลเสมอ
เพราะเราจะบอกลูกกันเสมอว่า แม่พ่อมีกำลังจะให้ได้แค่ไหน
เราเพียงแต่ต้องการจะให้ลูกรู้จัก “คุณค่า” ของของที่ตัวเองต้องการ
และลำดับความต้องการของตัวเองได้ ว่าถ้าจะต้องเลือก แค่เพียงสิ่งเดียว ลูกจะเลือกอะไร ?
และลูกก็ได้เรียนรู้ การอดใจ เพื่อ รอคอยเวลาที่เรา “พร้อม” กันทุกคน ทั้งฝ่ายให้และฝ่ายรับ
ไม่แน่ใจว่า ด้วยแนวคิดนี้รึเปล่า ลูกของแม่จึงไม่เคยไปร้องดิ้นกลางห้างเพื่อจะเอาของเล่นที่ตัวเองอยากได้
ด้วยการสอนกันด้วยความเป็นจริงนี้ เราก็พร้อมจะเข้าใจความรู้สึกของลูก
เพราะเรามองลูกด้วยความเป็นจริงที่ลูกเป็น ไม่คาดหวังเกินกว่าสิ่งที่ลูกจะเป็นให้เราได้
แม่บ้านนี้ถึง “แขวนไม้เรียว” อย่างเด็ดขาดในการลงโทษเด็ก
แต่เราลงโทษกันด้วยวิธีการที่เหมาะสมกับความผิดที่ทำ ซึ่งบางทีอาจจะฟังดูโหดร้ายกว่า (รึเปล่า)
………………………………..
ลูกของแม่เติบโตมาท่ามกลางครอบครัวที่มี พ่อแม่และยายอยู่ในบ้าน
เรามีกันแค่สี่คนในครอบครัว เราดูแลกันและกันเอง
ดังนั้น สมาชิกตัวน้อยในครอบครัวเรา ก็มีหน้าที่ที่จะต้องช่วยเหลือคนอื่นๆ ในบ้าน
แม่แบ่งหน้าที่เล็ก ๆ น้อย ๆ พอที่เด็กวัยอนุบาลของเราจะทำได้
สำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง ก็ว่ากันไปตามเรื่อง แค่ขอให้ลูกรู้ว่า “อันนี้หนูต้องทำเองนะคะ”
และด้วย หน้าที่เล็ก ๆ นี้ เมื่อลูกได้ทำ และวันหนึ่งที่เขาทำได้
หน้าที่เล็ก ๆ เหล่านั้น จะสร้างความภูมิใจที่ยิ่งใหญ่ในหัวใจเด็กได้อย่างไม่ยากเลย
และความภูมิใจที่ยิ่งใหญ่นั้นจะขยายผลไปเรื่อย ๆ ทำให้ลูกรู้จักดูแลตัวเอง
สักวันหนึ่ง..เค้าจะรู้จักดูแลผู้อื่นต่อไปในอนาคต
ด้วยหัวใจของแม่คนนี้ หวังแค่เพียง วันหนึ่งที่ลูกของแม่ต้องยืนอยู่ด้วยตัวเอง
ลูกของแม่จะดูแลตัวเองได้ ไม่ได้หวังอะไรไปมากกว่านี้เลย
ซึ่งทุกวันนี้ การดูแลตัวเองตามวัยของลูก ลูกก็พอจะทำได้และเราก็ยอมที่จะให้ลูกทำ
ช้าบ้าง อ้อยอิ่งบ้าง แม่ลุ้นตัวโก่งบ้าง แต่แม่ก็ อดใจคอย เพียงเพื่อให้เกิดการฝึกฝนในทุกวัน
เพราะโอกาสในการฝึกฝนในชีวิตประจำวันนี่หละ มีอยู่มากมาย นี่ก็เป็นความจริงอีกประการหนึ่งที่แม่ตระหนัก
………………………………
ความจริงข้อใหญ่ที่แม่ยุ้ย ทำตัวหนาและขีดเส้นใต้ระบายสีแดงตัวโต ๆ ไว้ในใจคือ
เราเป็นเพียงผู้ชี้ทางและนำทางเท่านั้น เราไม่ใช่เจ้าของชีวิตลูก
แม่เป็นเพียง “ตัวอย่าง” ให้ลูกเห็น ไม่ใช่ เป็นเสียทุกอย่าง “แทนลูก”
แม่เป็นเพียง “ผู้ชี้ทาง” ให้ลูกเดิน ไม่ใช่ ขีดเส้นและ “เดินแทนลูก”
แม่เป็นเพียง “ผู้ประคับประคอง” ไม่ใช่ ผู้ที่คอย “โอบและอุ้มอยู่ตลอด” จนลูกเดินไม่เป็น
แม่เป็นเพียง “ผู้เฝ้าดู” ด้วยใจเมตตา ไม่ใช่ “ผู้ตัดสิน” ผิดหรือถูกในทุกสิ่งที่ลูกทำ
แม่เป็นเพียง “ผู้คอยปลอบใจ” เวลาที่ลูกท้อแท้ และก้าวพลาด ไม่ใช่ “ผู้คอยป้องกัน” ไม่ให้ลูกผิดพลาด
ประสบการณ์ชีวิต ของลูก คือตำราเล่มสำคัญมากกว่าการบอกเล่าของแม่
แม่บ้านนี้ ยินดีให้ลูกลงมือทำเสมอ เพียงเพื่อให้ลูกได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง
เพราะลูกจะจำได้ขึ้นใจ ดีกว่า แม่พร่ำบอกเพียงอย่างเดียว
วันนี้ สมาชิกหน่วยเล็ก ๆ ในครอบครัวของเรา ถึงได้ทำโน้น ทำนี่มากมาย
และเราก็สอนเด็กของเรา ด้วยการผิดพลาดของเขา และพร้อมจะให้แนวทาง
เพื่อให้เขาพร้อมที่จะเริ่มต้นใหม่ได้เสมอ และไม่กลัวการที่จะทำผิดพลาด
เพราะความผิดพลาดในเบื้องต้น คือ ครูที่ดีที่สุดในการดำเนินชีวิตต่อไปในวันข้างหน้า