มาสร้างความมั่นใจให้ลูกกัน
ลูกไม่มั่นใจเลยคะ ทำยังไงดีคะแม่ยุ้ย ?
เวลาครูถาม ลูกไม่เคยยกมือตอบเลยคะ ?
ลูกไม่เคยกล้าเป็นอาสาสมัครเวลาครูถาม ใครอยากช่วยครูบ้าง ?
ใครอยากลองทำอันนี้ก่อนบ้าง ออกมาหน้าชั้น ไม่เคยมีลูกอิฉันเลยคะ ?
คำถามถามว่า .. สมัยพวกเราเด็ก ๆ เรากล้าไหมหละคะ คำตอบคือ ไม่เลย สิ่งนี้เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับเด็กไทยมาช้านานเหลือเกิน ต้ังแต่รุ่นยาย รุ่นแม่ แต่วันนี้เรากำลังจะเปลี่ยนแปลงมันใน ” รุ่นลูก ” แม่ยุ้ยเองก็เฝ้าคิดถึงสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เหมือนกันว่า เราจะปลูกฝังให้ลูก มั่นใจ และ กล้า แสดงความคิดเห็นได้อย่างไร แต่ก็ต้องยอมรับว่า สังคมของเรา คำว่า กล้าแสดงความคิดเห็น กับ เถียง มันต่างกันนิดเดียว คำว่า กล้า กับ ไม่อาย มันก็แลดูจะใกล้กัน คิดอยู่นานคะ แล้วก็ได้ข้อสรุปแล้วก็ลงมือทำกับครอบครัวเรานี่หละก่อนเลย ซึ่งบอกเลยว่า ” โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่านและประยุกต์ใช้นะคะ ” เพราะดี และเหมาะสมของแต่ละบุคคลอาจจะมีมุมมองที่ต่างกัน ยุ้ยแค่เพียง แชร์สิ่งที่ยุ้ยคิด และลองลงมือทำนะคะ
อย่างแรกเลยคือ “สร้างความรู้สึกว่าเราไว้วางใจให้ลูก” เพื่อเพิ่มความมั่นใจใจตัวเองให้เด็ก เช่น แก้ว จานกระเบื้อง แจกัน คือสิ่งของต้องระวังสำหรับเราสมัยเด็ก ๆ ผู้ใหญ่มักจะเลี่ยงที่จะให้เราหยิบจับ เพราะกลัวเราจะทำแตก แต่ยุ้ยเปลี่ยนมุมมองเหล่านั้นเสียใหม่คะ ยุ้ยดูวัยที่เหมาะสมที่จะให้ลูกช่วยหยิบจับสิ่งของเหล่านั้นได้ ซึ่งยุ้ยเริ่มฝึกโดยการขอให้ปลาทูช่วย หยิบ ไข่ไก่ จากในตู้เย็นมาให้แม่ในครัว เริ่มจาก “ไข่ไก่” นี่หละคะ ของซึ่งแตกง่ายเหมือนกัน แต่แตกแล้วไม่เป็นอันตราย ระหว่างบอกก็อธิบายไปด้วยว่า ต้องเบามือนะ เดินดูทางให้ดี แล้วตอนวางก็ค่อย ๆ วางนะลูกนะ รู้ไหมคะ ว่า ครั้งแรกที่ปลาทูทำได้ เค้ารู้สึกว่า หนูก็ช่วยแม่ได้ ของแตกง่ายอย่างไข่ หนูก็ดูแลมันได้นินา แม่เองก็บวกความรู้สึกว่า “เห็นไหมลูก ถ้าเราทำอย่างระวัง มันก็ไม่แตกหรอก” โหย หัวใจเด็กพองโตคะ เค้าได้รับความไว้วางใจ เค้าดูแลสิ่งทีแม่มอบหมายให้ได้ แล้วเราก็ใช้เค้าให้เป็นประจำ บ่อยขึ้น แล้วก็ค่อย ๆ ขยับมาเป็น หยิบถ้วยน้ำพริก แจกัน จานขนม ด้วยการสอนแบบเดียวกันกับการหยิบไข่นั่นเอง ทุกวันนี้ยุ้ยให้ปลาทูถือจานขนน หรือ เจกันดอกไม้ที่เป็นกระเบื้อง เดินขึ้นบ้านชั้น 3 ไปห้องพระ เอาไปถวายพระได้ ้ใช้ไปลาขนมลงมาจากห้องพระได้เอง ช่วงแรกก็สอนหน่อยว่า เดินระวังขานะลูก ดูบันไดดี ๆ ค่อย ๆ เดิน
แล้วก็ค่อย ๆ ขยับมาให้ช่วยคนสิ่งของในกะทะ เตาร้อนนะลูก ต้องห่าง ต้องระวัง ต้องมีสมาธินะ แต่แม่ก็ควบคุมอยู่ข้าง ๆ อย่างใกล้ชิดตลอดนะคะ
สำหรับเรื่องการกล้าที่จะแสดงความคิดเห็น ข้อนี้เป็นปัญหาระดับชาติกันเลย การไม่กล้าแสดงความคิดเห็น อาจจะมีจุดเริ่มต้นมาจากการรู้สึกไม่ดี หากเราคิดเห็นไม่เหมือนคนอื่น หรือสิ่งที่เราพูดออกไปมันผิดในสายตาของใครต่อใคร เลยทำให้เราไม่พูดดีกว่า แต่สำหรับเด็กแล้ว แม่ยุ้ยเริ่มต้นจากการเปิดโอกาสให้ลูกพูดสิ่งที่ลูกคิด จะมีคำถามนี้เสมอว่า “ลูกคิดว่า เรื่องนี้เราควรทำยังไงกัน ไหนช่วยแม่คิดหน่อย” แล้วฟังลูกคะ เพราะเราใช้คำว่า “ช่วยกันคิด” ไม่ได้แปลว่า เราให้ลูกคิดคนเดียวหรือเราคิดคนเดียวนะ และก็จะมีหลายครั้งที่สิ่งที่ลูกคิดเข้าท่า แต่ถ้าลูกคิดแล้ว บอกแล้ว เราตอบกลับไปด้วยคำตำหนิหรือดุว่า จะมีใครอยากแสดงความคิดเห็นหรือพูดอะไรกับเราอีกหละคะ ถ้าสิ่งที่ลูกคิดมันไม่ใช่ ก็คุยกันดี ๆ แบบนี้มันไม่ได้นะซิลูก แม่ว่า แบบนี้นะ ลูกคิดว่าไง
ถ้าการตอบคำถามในห้องเรียน ครูเปิดโอกาสให้ตอบ บรรยากาศมันน่าสนุก ตอบผิดตอบถูกไม่เป็นไร เด็กก็อยากสนุก อยากตอบคะ แต่สมัยเราเนี้ย ตอบผิดเราก็กลัวแล้ว จริงไหมหละ ? ยุ้ยว่าเด๊่ยวนี้บรรยากาศในห้องเรียนลูก น่าเรียนกว่าสมัยเรานะ บอกลูกไว้เสมอนะคะว่า ผิดถูกไม่เป็นไรหรอกลูก ผิดคราวหน้าก็เอาใหม่ หรืออะไรที่เราผิดแล้วเราไม่รู้ เราก็กลับมาถามแม่ หรือตั้งใจฟังครูให้มากขึ้น แค่นั้นเอง มันไม่ยากเลย
สิ่งที่เห็นจากเรื่องนี้คืออะไรรู้ไหมคะ ” การปล่อยให้ลูกได้ทำอะไรด้วยตัวเอง แล้วเมื่อเขาทำได้ เขาจะมั่นใจในตัวเองมากขึ้นเรื่อย ๆ ” คนที่ไม่กล้า คือคนที่ไม่เคยลงมือทำ หรือคนที่ทำแล้ว เมื่อผิด ไม่ได้รับการแนะนำ ได้รับแต่คำตำหนิติเตียน จนทำให้หมดกำลังใจ และไม่อยากจะทำมันอีก เพราะไม่อยากฟังคำที่บาดหัวใจ นี่หละคะหลักการง่าย ๆ ในการสร้างความมั่นใจไม่ว่าจะกับเด็กหรือผู้ใหญ่ ตอนนี้แม่ยุ้ยก็กำลังบิ้วตัวเองให้มั่นใจในเส้นทางที่กำลังก้าวเดินอยู่ตอนนี้เช่นกัน