แบ่งปัน อย่างเต็มใจ
การรู้จักให้ เป็นเรื่องที่ดีมาก
แต่จะสอนลูกอย่างไรให้ แบ่งปัน จากใจ ไม่ใช่ถูกบังคับให้แบ่ง
แล้วก็มักจะมีคำที่เราได้ยินกันเป็นประจำว่า
“แบ่งน้องซิลูก เป็นพี่ต้องให้น้องก่อน”
“แบ่งเพื่อนด้วยซิ ไม่ดีเลย ไม่ยอมแบ่งใคร”
“ทำไมไม่แบ่งใครเลยเนี่ย นิสัยไม่ดี”
“จะงกไปไหน อะไรก็ไม่ยอมแบ่งปันเลยนะ”
สังเกตให้ดีว่า คำเหล่านี้มันซ่อนอะไรไว้ข้างในบ้าง
มันซ่อนการเชิญชวนให้แบ่งปันในแนวลบ
หรือ บอกให้แบ่งแกมบังคับ
เด็กบางคนยอมแบ่งนะคะ หลังจากแม่บอกว่า ให้แบ่งน้องเพราะเป็นพี่
ที่ยอมเพราะ อยากให้แม่รู้สึกว่า ตัวเองเป็นเด็กดี อยากให้แม่รัก และสนใจ
แต่… ไม่ได้แบ่งน้อง เพราะใจตัวเองอยากจะแบ่ง
ไม่ต้องมองที่เด็กเลยคะ เอาตัวเราผู้ใหญ่โต ๆ นี่หละ
เคยมีบ้างไหมที่ ต้องแบ่งให้ใคร เพราะไม่อยากโดนต่อว่า
หรือต้องแบ่งให้คนนี้ คนโน้น เพราะกลัวตัวเองจะดูไม่ดี
ทั้ง ๆ ที่ชีวิตตอนนั้นเราอาจจะไม่พร้อมที่จะ “เป็นผู้แบ่งปันก็ได้”
แม่ยุ้ยไม่เห็นด้วยกับการสอนที่ว่า “เป็นพี่ให้แบ่งน้อง เพราะความเป็นพี่”
แล้วพี่ก็แบ่งให้น้องเวลาที่แม่อยู่ตรงนั้น หรือแม่บอกให้แบ่ง
แต่ถ้าแม่พ้นไปแล้ว มันคือช่วงเวลาเอาคืน สำหรับพี่บางคน
ด้วยสิ่งที่อยู่ในใจลึก ๆ ว่าทำไมฉันต้องให้ มันควรเป็นของฉัน
ซึ่งปมในใจนี้อาจจะติดมาจนโต แล้วถ้าวันนึงแม่ตายจากไป
จะเกิดอะไรขึ้น .. พอจะนึกภาพออกไหมคะ ?
เรื่องแย่งชิงมรดก กันจนฆ่ากันตายระหว่างสายเลือด
อาจจะเกิดมาจากปมในใจของคนเป็นพี่ ที่ต้องแบ่งมาทั้งชีวิตก็ได้นะ
อันนี้ สมมติฐานของแม่ยุ้ยเองนะ เลยยกมาให้คิดกันเล่น ๆ
ส่วนมุมมองในเรื่องการแบ่งปันของแม่ยุ้ยในเวลานี้นั้น
ต้องใช้คำว่า เวลานี้ เพราะก่อนหน้านี้ก็ไม่ได้คิดแบบนี้หรอกคะ
เพิ่งคิดได้ไม่นานนี้หละ เมื่อมีลูก เมื่อเห็นเรื่องราวชีวิตของหลาย ๆ คน
แม่ยุ้ยจะพูดกับลูกเสมอว่า “เด็กที่แบ่งปัน คือเด็กมีน้ำใจ”
ใช้การขยายความของคำว่า “แบ่งปัน แล้วจะเป็นอย่างไร”
พร้อมกับยกตัวอย่างง่าย ๆ ที่เห็นได้ในชีวิตประจำวัน
คือการนำอาหารและขนม ของฝากต่าง ๆ ไปฝากเพื่อนบ้าน
เพื่อนบ้าน ก็นำของ อาหาร ขนมกลับมาฝากเรา
แต่ก็ห้อยท้ายสักหน่อยว่า แบ่งแล้วก็ไม่ได้แปลว่าเขาจะแบ่งกลับทุกครั้งนะ
บางคน .. เค้าก็ไม่ได้แบ่งเรากลับเหมือนที่เราแบ่งเค้านะลูกนะ
เพราะอะไรลูกรู้ไหม ?
การแบ่งปัน คือการแสดงน้ำใจ ใครแบ่งปัน คือคนมีน้ำใจ
แต่การไม่แบ่ง ก็ไม่ได้เป็นคนไม่ดี ไม่ได้เป็นความผิด
แค่ถ้าเราแบ่ง เราก็มีน้ำใจ เท่านั้นเองลูก
ของที่แม่ให้หนู มันคือสิทธิ์ของหนูแล้ว หนูจะแบ่งหรือไม่ แล้วแต่หนูเลยลูก
เราต้องเคารพในสิทธิที่ลูกมี และไม่บังคับให้เค้าไม่ใช่สิทธิด้วย
ปลาทูมีน้อง ที่เป็นลูกพี่ลูกน้อง วัยต่างกันสัก สามปีได้
ล่าสุด น้องไม่ยอมใส่เสื้อผ้า ชี้แต่จะขอใส่เสื้อพี่ปลาทู
แม่ยุ้ยก็ใช้วิธีนี้คะ .. หนูให้น้องยืมใส่ก่อนได้ไหมลูก
น้องแค่ขอยืมนะ เดี๋ยวเรากลับบ้านเรา น้องก็คืน
แม่ก็เรียกน้องมาคุย ว่า ป้าให้ยืมนะ เดี๋ยวกลับบ้านพี่ปลาทูต้องคืนพี่เค้านะ
ปลาทูน้ำตาร่วงคะ .. แต่ก็บอกว่า หนูให้น้องยืมนะแม่ แต่ถ้าน้องไม่คืนหละ
มันหาซื้อใหม่ไม่ได้แล้วนะแม่ แบบนี้เลย ไม่มีแล้วนะแม่นะ
ถามว่า แม่ยุ้ยคิดไหมว่า ให้น้องก็ได้ลูกเดี๋ยวแม่ซื้อใหม่ คิดซิ !!
เปรย ๆ ถามลูกด้วยว่า หนูให้น้องได้ไหมลูก เดี๋ยวแม่ซื้อให้ใหม่แบบอื่น
เด็กตอบเลยคะว่า ไม่เอาแม่ ถ้าจะซื้อใหม่หนูจะเอาแบบนี้เลย สีนี้เลย
ซึ่งบอกได้เลยว่า แม่ไม่สามารถหาแบบนี้ให้ได้อีกแล้ว
ถ้ารับปากไป .. งานเข้าแน่คะ ตอนนั้นทั้งแม่และพ่อนั่งคุยกับปลาทู
พ่อเลยบอกว่า โอเคลูก ให้ยืม เดี๋ยวน้องก็คืน
เด็กบอกเลยว่า หนูกลัวน้องจะไม่คืน แม่เลยบอกว่า คืนซิ น้องพูดรู้เรื่องแล้ว
เห็นอะไรจากเรือ่งราวนี้บ้าง .. เห็นไหมคะว่า ของบางอย่างมันสำคัญด้านจิตใจ
การฟังคำลูก มันไม่ใช่แค่เรื่องเสื้อตัวเดียวนะ แต่มันคือความรู้สึกที่พ่อแม่รับฟังและทำตามเขาในสิทธิของเค้า ที่เขามี และต้องเลือกเอง
เรื่องนี้จบด้วยดีคะ เจ้าตัวน้องดีใจได้ใส่เสื้อมีแว๊บ ๆ ยิ้มร่าพากันไปเล่น
แต่ตกเย็น ก็ยอมคืนนะ ถึงแม้จะคืนด้วยน้ำตา ก็คืน
ป้ากับลุง จึงบอกว่า เดี๋ยวป้ามาคราวหน้า ป้าซื้อมาฝากนะลูกนะ เอามีแว๊บๆ นะ
การยกของพี่ให้น้อง ด้วยเหตุผลที่ เป็นพี่ต้องแบ่ง
มันเหมือนพี่โดนทำร้ายจิตใจ ซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า
การให้น้องใช้ของพี่ ซึ่งพี่ก็ได้ของใหม่ใช้ก่อนตลอด
มันก็เหมือนการทำร้ายจิตใจ น้อง ซ้ำแล้ว ซ้ำอีกเช่นกัน
ให้สิทธิ์กันไปเลยคะ อันนี้ของพี่ อันนี้ของน้อง
จะอยากได้ของพี่ ให้เด็กตกลงกันเอง แม่เป็นกรรมการ
ถ้าหนูอยากเล่นของพี่ หนูเอาของหนูมาแลกกันดูไหมลูก
เพราะอันนี้ของพี่เขา ถ้าพี่เขาไม่ให้ แม่ก็ให้หนูไม่ได้
หรือหนูลองคุยกับพี่เขาดู ว่าขอจะได้ไหม ถ้าไม่ได้ แลกได้ไหม
เรื่องใช้ของต่อกันก็เหมือนกัน ถ้าน้องยอมใช้ของพี่ต่อ
พ่อแม่ประหยัด .. น้องควรได้ อะไรสักหน่อยไหม
ในฐานะช่วยแม่ประหยัด แต่ต้องให้น้องเลือกนะ ว่าจะยอมใช้ของพี่ไหม
เช่น แม่จะต้องซื้อรองเท้านักเรียนใหม่ให้ทั้งคู่
แต่ถ้าหนูยอมใช้ของพี่ เงินที่เหลือจากค่ารองเท้า ครึ่งนึง แม่ให้หนูแทน
เพราะหนูทำให้แม่ประหยัดไม่ต้องซื้อของใหม่
โอ๊ย เปิดเทอม รองเท้าใหม่ ใคร ๆ ก็อยากใส่ บอกเลย
แต่ถ้ายอมใส่เก่าแล้วเงินเหลือครึ่งนึง ก็น่าสนใจ
แถมแม่เอง ก็ประหยัดไปครึ่งนึงนะ ไม่สร้างปมในใจลูกด้วย
หลายบ้านพี่บ่น พี่น้องรังแกกัน ทะเลาะกัน
แม่ยุ้ยว่า สาเหตุบางส่วนก็มาจากเรื่องนี้นะคะ
และจะบอกว่า เด็กสองคน ต้องการให้แม่รักตัวเองทั้งคู่
คงไม่แปลกที่จะจัดการฝ่ายตรงข้าม เด็กคิดไรไม่มากหรอกคะ
เพราะเค้ายังรู้อะไรไม่มากเท่าผู้ใหญ่ มองลูก ให้เข้าใจเด็ก
ถ้าพ่อแม่ รักให้รู้สึกได้ว่า รักเรา รักน้อง เราก็ไม่ได้รู้สึกต่าง
ก็คงไม่ต้องจัดการน้องซะให้คว่ำ
แต่เด็กสองคนอยู่ในบ้านเดียวกัน (เหมือนเสือสองตัวในถ้ำเดียวกัน)
แกล้งกัน เล่นกัน ก็เป็นธรรมดานะ เคสที่ไม่ธรรมดาคือ
จ้องทำร้ายน้องหรือพี่จนเกินพอดี อันนี้พ่อแม่ต้องเข้าไปดูแลแล้ว
สุขสันต์วันหยุดนะคะ ใช้วันหยุดให้มีค่ากับครอบครัว