เลือกโรงเรียนแนวไหนให้ลูกดี
เป็นคำถามที่หลายคนถามเข้ามา และก็มีคนรู้จักมาปรึกษาเช่นกัน
วันนี้ถือโอกาส “ตอบคำถามนี้ ตรงนี้เลยนะคะ”
ปลาทูย้าย 3 โรงเรียนใน 4 ปี
ทางเลือก
วิชาการ
สองภาษา
แม่ยุ้ยเจอมา 3 แบบนี้แล้วคะ และก็ได้แนวคิดที่จะนำมาฝากกัน
จะเลือกแนวไหนให้ลูก .. ต้องดูจาก “ลูก” เราเป็นหลักคะ
เพราะเด็กแต่ละคนมี “ลักษณะเฉพาะตัว” ต่างกัน
ครั้งแรกที่แม่ยุ้ยเลือกโรงเรียนทางเลือก เพราะเราชอบในแนวทาง
แต่สุดท้ายกลายเป็น แนวทางที่เราเลือก “ไม่เหมาะกับลูกเรา”
คำว่าไม่เหมาะ ไม่ได้แปลว่า แนวทางเขาไม่ดีนะคะ
แนวคิด แนวทางเขาดี แต่ลูกเรา “ไม่เหมาะกับแนวทางและวิธีการเหล่านั้น”
จากเดิมที่แม่ยุ้ยคิดว่า โรงเรียนทางเลือก จะช่วยให้ลูกมีความสุข
โดยการที่เราพยายามเลือกสภาพแวดล้อมให้ลูก
ให้อยู่ในแนวคิดที่เราคิดว่า เราโอเค
แต่ .. ข้อคิดจากการเลือกครั้งนี้คือ
อย่าได้เอาสิ่งที่เราเห็นว่าดี เห็นว่าใช่ มาตัดสินใจแทนลูกทั้งหมด
เราต้องคอยสังเกตลูกเราด้วย ลูกมีความสุขไหม
ลูกมีความสุขกับการไปโรงเรียนมากน้อยแค่ไหน
แววตาลูกเป็นอย่างไร ร่าเริง สดใสแค่ไหนเวลาอยู่โรงเรียน
และสุดท้ายเราตามไปสร้างสภาพแวดล้อมครอบลูกไว้ตลอดไม่ได้คะ
ครั้งที่ 2 ย้ายไปโรงเรียนบ้าน ๆ เลยธรรมดา
และก็พบว่า การเน้นอ่านเขียน ลูกเราไม่สามารถจริง ๆ
เด็กบางคนเขาเรียนกันได้นะ เค้ามีความสุข
แต่ ด.ญ.ปลาทู ไม่แฮปปี้คะ เธอสามารถเดินออกจากห้องเรียนไปเล่นสนาม
โดยที่ไม่แคร์ครูได้เลย พอครูสอบถาม เธอตอบได้ทุกสรรพสิ่งที่ครูสอน
พร้อมกลับมาถามแม่ว่า ทำไมต้องเรียนซ้ำ ๆ ในเมื่อหนูรู้แล้ว
พอเธอเบื่อ เธอก็ป่วนห้องเรียนคะ ชวนเพื่อนคุย ชวนเพื่อนเล่น
อันนี้ .. สาเหตุมาจากลูกเราไม่เหมาะกับการจัดกิจกรรมแบบนี้จริง ๆ
และอีกอย่าง บ้านเราไม่ได้มุ่งเน้นการสอบเข้าสาธิตหรือโรงเรียนใด ๆ
แม่จึงตัดสินใจ ปรึกษาจิตแพทย์อีกตามเคย
จริง ๆ ปรึกษามาตั้งแต่ออกจากโรงเรียนแรกแล้ว เพราะครูประเมินว่าลูกเรา
“มีปัญหา” เราก็พยายามหาสาเหตุของเด็กของเราก่อน
แม่ก็ได้คำแนะนำดี ๆ จาก หมอนัทคลินิกเด็กยิ้มแฉ่ง
เราเริ่มสังเกต พูดคุย กับหมอและเด็กไปพร้อม ๆ กัน
จนเราได้ทราบสาเหตุ และ แนวทางที่ลูกน่าจะถนัดและเหมาะสม
แม่ก็ไม่ไหวจะโดนครูเชิญไปคุยเหมือนกัน จึงค้นหาสิ่งที่เหมาะสมจนได้
ครั้งที่ 3 แม่เลือกให้ปลาทูเรียนโรงเรียน ระบบสองภาษา
พร้อมใจที่จะลองดูอีกสักตั้ง ว่าการเรียนแนวนี้อาจจะเหมาะกับลูก
ด้วยครูประจำชั้นที่เป็นต่างชาติ พร้อมกับครูไทย
มีการเรียนการสอนที่ไม่เน้นวิชาการมากนัก แต่ก็ไม่ได้อ่อนจนเกินไป
แต่ก็วัดดวงว่า ปลาทูจะสื่อสารภาษาอังกฤษกับครูต่างชาติได้ไหม
เพราะไปเริ่มเรียนเอาตอน อนุบาล 3 แล้ว
ทุกวันนี้ยังนึกเสียดายเลยว่า น่าจะตัดสินใจเรียนแบบนี้ตั้งแต่แรก
ทั้งนี้ทั้งนั้น .. คำว่าดีของเรา กับดีของคนอื่น มันต่างกันนะคะ
อย่าเลือกเพราะคนอื่นบอกว่าดี เข้าไปดูเองให้ละเอียด
แม่ยุ้ยคือคนนึ่งที่ไม่รอบคอบเรื่องเลือกโรงเรียนลูก
ดังนั้นกว่าจะถึงจุดที่เหมาะสม ปาเข้าไป โรงเรียนที่ 3
สิ่งที่จะวัดได้คือ แววตา น้ำเสียง ความร่าเริงของลูก
ถ้าลูกไปโรงเรียนแล้ว ซึมเงียบ ถามคำตอบคำ
เช้าไม่กระตือรือร้น ไม่มีเรื่องสนุกกลับมาเล่า
ขอให้พ่อแม่เริ่มสังเกตให้หนักขึ้นนะคะ ว่าลูกมีความสุขไหม
เด็กแต่ละคนมีระยะเวลาในการปรับตัวต่างกันออกไป
ค่อย ๆ ดู ค่อย ๆ ให้เวลาลูกปรับตัว
เด็กบางคน เรียนวิชาการได้อย่างมีความสุข
เด็กบางคน เรียนสองภาษาอย่างสนุกสนาน
เด็กบางคน เรียนรู้ด้วยการเล่นอย่างไม่น่าเบื่อ
ขึ้นอยู่กับตัวเด็กเป็นหลัก
แต่ไม่ว่าจะเลือกโรงเรียนแนวไหน
พ่อแม่ ก็ควรจะ ใกล้ชิดและใส่ใจอย่างสม่ำเสมอคะ