เมื่อลูกบ่นไม่อยากไปโรงเรียน
มีหลายคนเจอปัญหานี้ ลูกบ่นไม่อยากไปโรงเรียน ลูกโอ้เอ้ยามเช้า แล้วก็มีอาการงอแงไม่อยากไปโรงเรียนจะทำอย่างไรกันดี แล้วก็ตามประสาคนเป็นพ่อ เป็นแม่ คงไม่ค่อยสบายใจนัก กับปัญหานี้ วันนี้แม่ยุ้ยมาแชร์ประสบการณ์เรื่อง “ลูกไม่อยากไปโรงเรียนกันคะ”
ก่อนอื่นเลย เราต้องหาสาเหตุให้เจอกันว่า ลูกไม่อยากไปโรงเรียนเพราะอะไร
1. ช่วงการปรับตัว : ถ้าอยู่ในช่วงการไปโรงเรียนแรก ๆ ก็เป็นไปได้มากที่เกิดจากการปรับตัว เด็กอาจจะยังปรับตัวไม่ได้ ยังไม่เข้าที่เข้าทาง หรือบางทีเพิ่งย้ายโรงเรียน เปลี่ยนครู เลื่อนชั้น ก็อยู่ในช่วงระยะเวลาการปรับตัว ก็อาจจะยังทำให้เด็กไม่สนุกสนาน ไม่สนิทกับเพื่อน ยังกลัวครูคนใหม่ เหล่านี้ก็เป็นสาเหตุของการ ไม่อยากไปโรงเรียนได้เช่นกันนะคะ
ถ้าอยู่ในช่วงการปรับตัว คุณพ่อ คุณแม่ก็ใจเย็นนิดนึงนะคะ คอยให้กำลังใจน้อง ว่าเดี๋ยวสักพักก็สนิทกับเพื่อนแล้ว เดี๋ยวสักพักก็จะมีเพื่อนใหม่ แล้วก็จะสนุกสนานไปเองคะ การปรับตัวของเด็กแต่ละคนใช้เวลาต่างกันนะคะ เราก็อย่าไปเร่งรัดลูก ให้เวลาเขาสบาย ๆ ชิว ๆ ไป มีอะไรก็คอยฟัง ก็พอ
2. ครูดุ : ถ้าพ้นช่วงการปรับตัวไปแล้ว อีกอย่างหนึ่งที่เป็นสาเหตุหลักของเด็ก ๆ คือ กลัวครู ครูดุ ซึ่งสาเหตุนี้จะมีผลกับเด็กบางกลุ่ม ส่วนมากจะเป็นเด็กหัวอ่อน ขี้กลัว ไม่ชอบเสียงดัง จะกลัวครูดุ ครูเสียงดัง แล้วยิ่งถ้าเกิดไปทำอะไรผิดเข้า แล้วโดนดุจะยิ่งกลัวไปกันใหญ่ ความดุของครู พ่อแม่ก็ต้องมองให้เป็นกลางนะคะว่า ลูกเราซนจนโดนดุหรือเปล่า เพราะครูเองดูแลเด็กห้องนึงไม่น้อยเลย จะมานิ่ม ๆ เนิบ ๆ ก็คงเอากันไม่อยู่ แต่ก็ไม่ใช่ตะหวาด กราดดุไม่มีเหตุผล
ถ้าลูกรู้สึกไม่อยากไปโรงเรียนเพราะครูดุ คุณพ่อ คุณแม่จะทำยังไงดีหละทีนี้ แม่ยุ้ยเองเคยผ่านเหตุการณ์นี้มาแล้ว หากลูกอยู่ในช่วงวัยที่ยังสื่อสารไม่ได้มากนัก เช่นเตรียมอนุบาล ก็คงจะสอบถามกันยากว่า ครูดุมากไปรึเปล่า และก็ยิ่งถ้าเป็นเตรียมอนุบาล ก็ยิ่งเป็นช่วงของการคาบเกี่ยวกับช่วงเวลาการปรับตัว คุณพ่อคุณแม่ยิ่งต้องใจเย็นนิดนึงนะคะ แต่ส่วนมาก ครูเด็กเล็ก จะไม่ค่อยดุนะ ลองสังเกตพฤติกรรมลูก ถ้าร้องไห้จ๊าก ๆ ไม่ยอมไปเลย ก็ให้เวลาลูกสักเทอมนะคะ เด็กจะค่อย ๆ ไว้วางใจครูขึ้นเรื่อย ๆ เด็กส่วนมากร้องตอนพ่อแม่ไปส่ง แต่พอพ่อแม่ไปแล้ว ก็เล่นสนุกสนาน แต่ถ้ามีกรณีที่ ลูกซึม ถึงแม่พ่อแม่จะไปแล้ว ไม่กินอาหาร กลางคืนนอนละเมอร้องไห้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ก็เด็กอาจจะเกิดอาการวิตกกังวล ลองค่อย ๆ แอบไปดูที่โรงเรียนบ้าง สอบถามผู้ปกครองท่านอื่นดูบ้าง เป็นข้อมูลไว้ก็ดีเหมือนกันนะคะ
ถ้าเด็กโตสามารถสื่อสารได้ เราสามารถพูดคุยได้คะว่า ลูกรู้สึกว่าครูดุ ดุยังไง ดุตอนไหน ไหนลองเล่าให้แม่ฟังหน่อยซิลูก ครูดุแล้วเขาตีหรือเปล่า แล้วหนูคิดว่า หนูผิดไหมหละ ถ้าหนูเป็นครูแล้วมีนักเรียนแบบหนู หนูว่าหนูจะทำยังไงดีลูก แล้วครูดุหนูคนเดียวหรือว่าดุเพื่อนด้วยรึเปล่า คือใช้การชวนคุย แล้วแอบแทรกความเข้าใจ ไปให้ลูกเป็นระยะ ๆ คะ เขาก็จะเข้าใจว่า ครูดุ มาจากความหวังดีและถ้าครูไม่ดุเลย ความปั่นป่วนในห้องเรียนจะเกิดขึ้นแค่ไหน
3. มีปัญหากับเพื่อน : เด็กโตหน่อยสาเหตุนี้ ฮิตติดอันดับคะ เพื่อนไม่เล่นด้วย เพื่อไม่ให้เล่นกับเพื่อนอีกคน เพื่อนไม่เข้าใจ เพื่อนไม่คุยด้วย คุยกับลูกนะคะ ถามหาสาเหตุ ว่าปัญหาของหนูกับเพื่อนคืออะไรกัน แล้วแม่หรือพ่อ ลองชวนลูกคุยว่า หนูคิดว่าเพื่อนอยากให้หนูทำแบบไหน อยากเล่นกันแบบไหนดี เล่นอะไรด้วยกันถึงสนุก แล้วเพื่อนโกรธลูกเพราะอะไร แล้วทำอย่างไรดีนะ เพื่อนถึงจะดีกับเรา พร้อมอธิบายให้ลูกเข้าใจไว้ด้วยนะคะว่า เพื่อนไม่ได้มีคนเดียวในโลก เพื่อนคนนี้เล่นไม่สนุก ก็เล่นกับคนอื่นได้ และเวลาเพื่อนโกรธ เราก็ควรให้เวลาเพื่อนหน่อยนะลูก รอเพื่อนใจเย็น รอเพื่อนหายโกรธ ค่อยกลับมาคุยกันใหม่ก็ได้
ทุกสาเหตุที่กล่าวมา (เท่าที่คิดออกจากสิ่งที่เจอมากับตัว) นั้นสามารถแก้ไข และทำให้ดีขึ้นได้ด้วยการ “พูดคุยกับลูก” นะคะ ดังนั้นพื้นฐานความสัมพันธ์ของ เราและลูก ก็จะต้องดีพอที่ลูกจะเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ให้เราฟังได้อย่างวางใจ และคิดว่าเราคือที่พึ่ง ที่ปรึกษา ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญจริง ๆ ควรเริ่มสร้างพื้นฐานของความสัมพันธ์ให้ดีไว้แต่วัยเด็ก และรักษาไว้ให้ดีจนถึงวัยรุ่น ปัญหาหลาย ๆ อย่างจะแก้ไขได้ไม่ยาก แต่ถ้าหากเรา “เข้าไม่ถึงลูก” ไม่ว่าจะปัญหาไหน ก็แก้ไขกันยากทีเดียวหละคะ