ทำอย่างไรกับอาหารนอกบ้าน ?
อย่างที่เคยบอก แม่ยุ้ยเป็นแม่พวกประโยชน์นิยมมาก่อน
แต่ก่อน อะไรไม่มีประโยชน์อย่าหวังว่าลูกจะได้กินคะ
แล้วที่หาให้กิน ก็ล้วนเลือกแล้วทั้งสิ้น
ขนมถุง ลูกอม อาหารขยะ ปลาทูไม่เคยได้กิน
จนเริ่มไปโรงเรียน .. ก็มีเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้แม่ได้ฉุกคิด
สิ่งที่ไปเห็นคือ ลูกตื่นเต้นและเอร็ดอร่อยกับขนมถุงของเพื่อน
ด้วยเพราะเธอไม่เคยได้รู้รสของเหล่านั้นมาก่อน
แล้วลูกก็กินอย่างไม่เคยได้กิน กินแบบไม่ยั้ง
ภาพที่เห็น ทำให้ คนเป็นแม่ ย้อนกลับมาคิดว่า
ที่ผ่านมาฉันทำถูกต้องแล้วเหรอเนี่ย
ตั้งแต่นั้น .. แม่ยุ้ยประโยชน์นิยมก็เปลี่ยนไปคะ
พร้อมแนวคิดที่ว่า เราไม่เปิดโอกาสให้ลูกรู้จักมัน
เพื่อนลูกก็จะสอนลูกเราเองอยู่ดี
ดังนั้นให้เค้ากินกับเรา ดีกว่าไปกินกับเพื่อน
ตั้งแต่นั้นมา .. ขนมถุง ลูกแม่ได้กิน ได้รู้จัก
และกินพร้อมกันแม่ และแม่ก็บอกด้วยว่า
กินเยอะแล้วมันไม่ดียังไง มันเค็ม มันมีสารกันบูด
เค็มมาก กินบ่อยเป็นยังไง สารกันบูดเป็นยังไง
ลูกอม ช็อคโกแลต กินเลยลูก เลือกเลย แม่ซื้อให้
แต่กินแล้ว ลูกต้องทำอย่างไรกับตัวเอง
เพื่อไม่ให้ฟันผุ ฟันผุแล้วจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง
แฮมเบอร์เกอร์ เฟรนฟราย ไก่ทอด พิซซ่า
แม่ก็พาไปกินคะ แต่เราจะมี ข้อตกลงร่วมกันว่า
เราจะกินกันเดือนละกี่ครั้ง และเมื่อไหร่ เราถึงจะได้กิน
เมื่อแม่เปลี่ยนแนวคิดได้ พฤติกรรมลูกก็เปลี่ยนไป
เพื่อนเอาขนมมาแบ่ง ลูกก็รู้จักเลือกที่จะรับ
บางอย่างรับมา ก็เอากลับมาบ้าน แล้วก็ไม่กิน
หลาย ๆ ครั้ง ขนมแม่ทำให้กิน อร่อยกว่าขนมถุงสำหรับลูก
บ่อยครั้งที่ลูกเลือกจะกินข้าวแม่มากกว่า แฮมเบอร์เกอร์
แม่ยุ้ยมีกฎอย่างนึงว่า จะกินขนมได้หลังจากอาหารเท่านั้น !!
และลูกบ้านนี้ จะกินอะไรต้องเดินมาบอกแม่ก่อน !!!
ด้วยกติกาสองข้อนี้ ขนมถุง อาหารขยะก็ไม่ใช่ประเด็นใหญ่
ปลาทูเคยถามนะคะว่า “อาหารขยะ” คืออาหารที่ทำจากขยะเหรอคะ
แม่ก็ได้บอกไปว่า ไม่ใช่ลูก แต่คืออาหารที่มีประโยชน์น้อยไปหน่อย
กินบ่อย ๆ ก็ไม่ค่อยดีกับร่างกาย เท่านั้นเอง
ความอร่อย ถูกใจเด็ก ก็เป็นอีกเรื่องที่เราต้องบอกให้ลูกเข้าใจ
ของอร่อย ก็ไม่ได้มีประโยชน์ทุกอย่าง
ดังนั้นเราเองต้องเลือกที่จะกิน กินได้ลูกของไม่มีประโยชน์ ไม่เป็นไร
แต่อย่างบ่อยจนเกินไป มันจะไม่ดีกับร่างกายเรา
กลายเป็นว่า เดี๋ยวนี้ ลูกเลือกกินได้ดี และเข้าใจได้ดีกว่า
แต่ก่อนแม่ห้ามไปหมด ยิ่งทำให้อยากรู้ อยากลอง
ลองซะกับแม่นี่หละ .. ดีที่สุดเนาะ