วิชายาขมของเด็กหลายคน ก็วิชาเลขหรือคณิตศาสตร์นี่หละคะ เด็กบ้านนี้ก็เป็นค่ะ ไม่ชอบมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว เพิ่งจะเริ่มมีความรู้สึกดีกับวิชาเลขเมื่อตอน ป.5 ที่ผ่านมานี้เอง จนล่าสุดวันนี้ ป.6 สอบกลางเทอมของเทอมแรก ปลาทูบอกแม่ก่อนออกจากบ้านว่า
วันนี้หนูรู้สึกดีมากกับการไปสอบวันนี้จังแม่ หนูไม่เคยรู้สึกแบบนี้มาก่อน ลูกยังบอกอีกว่า แต่ก่อนหนูทำโจทย์ปัญหาไม่ได้เลยนะแม่ แต่เดี๋ยวนี้หนูทำได้เยอะกว่าแต่ก่อนเยอะมากเลยแม่ แม้ว่าจะยังทำผิด ๆ ถูก ๆ บ้างแต่หนูก็รู้วิธีแล้วว่าจะคิดยังไง
นี่คือสิ่งที่ แม่ยุ้ยดีใจที่สุด จากการพยายามปรับความเข้าใจเกี่ยวกับวิชาเลขของลูกมาในช่วงตั้งแต่ ป.5 จนถึงวันนี้ ตกเย็นลูกกลับมาบ้านด้วยการยิ้มหน้าแป้นเลยค่ะ หนูว่าหนูทำได้เยอะกว่าเมื่อจริง ๆ แม่
คำว่าลูกทำได้เยอะกว่าเมื่อก่อน ยุ้ยรู้สึกโอเคแล้วค่ะ ไม่ต้องรอดูคะแนนเลย เพราะเราตั้งใจจะ “กอบกู้หัวใจเด็ก” ให้รู้สึกมีความสุขกับสิ่งที่ไม่ชอบ สิ่งที่ต้องเรียนแล้วรู้สึกไม่ดี ให้ดีขึ้น เจตนาของแม่ยุ้ยคือแบบนั้น
📌 มาค่ะมาฟังกันว่า แม่ยุ้ยทำอะไรมาบ้างในช่วงปีกว่า ๆ ที่ผ่านมา วันนี้จะมาเล่าให้ฟัง เผื่อจะมีประโยชน์กับบ้านอื่นๆ บ้าง จะได้ลองนำไปกอบกู้หัวใจเด็กไม่ชอบเลขที่บ้านกันดูนะคะ
📌 ทำความเข้าใจลูกก่อนว่า ” ไม่ใช่ทุกคนต้องชอบเรียนเลข”
ลูกไม่ชอบเลข ไม่ใช่เรื่องผิดบาปอะไรเลยค่ะ ชอบไม่ชอบ มันบังคับกันไม่ได้จริง ๆ แม่ยุ้ยคุยกับปลาทูเลยว่า สมัยแม่เรียน แม่ก็ไม่ชอบเลขเนี่ย แต่มันก็ต้องเรียนให้ผ่านไงลูก ไม่งั้นสอบตกก็เรียนไม่จบ แม่เลยคิดหาวิธีจะอยู่กับวิชาที่แม่ไม่ชอบยังไงแค่ให้พอเอาตัวรอดได้ พอแม่เริ่มเล่า ลูกก็ฟังอย่างสนใจ และจึงเกิดการเปิดใจที่จะกล้าบอกแม่มากขึ้น
มันไม่ใช่เรื่องผิดนะที่เราไม่ชอบเรียนบางวิชา มันเป็นธรรมดาจริง ๆ คิดถึงตัวเองตอนเด็ก ๆ เข้าไว้ก่อนจะคุยกับลูกค่ะ เราก็ไม่ได้ชอบทุกวิชา ไม่ได้ทำได้ดีทุกวิชา และก็ไม่ได้สนุกเวลาเรียนทุกวิชาสักหน่อย จริงไหม ?
📌 ค้นหาสาเหตุของการไม่ชอบเลขของลูกให้เจอ
พอได้เปิดใจคุยกันมากขึ้นในแบบคนเข้าใจกัน หรือถ้ายิ่งเป็นพวกหัวอกเดียวกันแล้ว ทีนี้เรามาช่วยกันแก้ปม ไม่ชอบเลขในใจลูกกัน ฟังลูกค่ะว่า ทำไมลูกถึงไม่ชอบ เวลาทำเลขแล้วมันรู้สึกแบบไหน เวลาเจอโจทย์แล้วหนูรู้สึกยังไง ทำไมถึงไม่อยากทำ
สาเหตุที่แม่ยุ้ยค้นเจอคือ ลูกไม่เข้าใจ พอไม่เข้าใจก็คิดไม่ออก พอคิดไม่ออกก็ทำไม่ได้ พอทำไม่ได้ก็รู้สึกว่ามันยาก พอรู้สึกว่ายาก ทำไม่ได้ ก็เบื่อ ถ้าเจอครูดุ สอนเร็ว ก็ไปกันใหญ่ค่ะ ฟังในห้องไม่ทัน งงสะสมกันหลาย ๆ เรื่องต่อกัน ทีนี้ยิ่งไม่ชอบไปกันใหญ่
📌 พูดคุยกับลูกให้เข้าใจว่า แม้ลูกจะไม่ชอบ ลูกก็ทำมันได้
ลูกวัย ป.6 นี่กำลังอยู่ในช่วง อารมณ์เริ่มมาค่ะ ต้องคุยกันให้ถูกจังหวะ ไม่ชอบแม่เข้าใจนะ แต่ลองเปิดใจกันดูสักตั้งนะลูกนะ เดี๋ยวแม่ช่วย แม่ก็ไม่ชอบ ไม่เก่งเลขเลย แต่แม่ก็ลองวิธีของแม่ แม่ก็ผ่านมันมาได้นะ ลูกมาลองวิธีของแม่กับแม่ดูไหม ? เราช่วยกัน ลูกไม่ได้ต้องเจอมันคนเดียว เดี๋ยวแม่คอยช่วยอยู่ข้าง ๆ ไม่ชอบแต่อยากให้ลองดูก่อนนะลูก แล้วลูกจะรู้ว่า ไม่ชอบ แต่เราก็ทำมันได้นะ ถึงวันนั้น วันที่หนูทำได้ หนูจะรู้สึกดีกับมันมาก ๆ เลย ลองดูนะ
📌 อยู่กับลูกในช่วงเวลาที่ลูกต้องทำการบ้านเลข
บ้านเราใช้การอยู่กับลูกในช่วงเวลาที่ลูกต้องทำการบ้านเลขค่ะ อยู่ใกล้ ๆ แล้วบอกลูกว่า ถ้าตรงไหนไม่เข้าใจถามแม่หรือพ่อได้เลยนะ อยากให้เข้าไปช่วยดูตรงไหน บอกได้เลยลูก เราไม่ได้เข้าไปทำให้เลยนะคะ เราใช้วิธีเป็นกำลังเสริม เป็นกองหนุน เป็นผู้คอยให้ความช่วยเหลือ ติดขัดตรงไหนพร้อมเข้าไปช่วยดูค่ะ และการเข้าไปช่วยดู ไม่ใช่การทำให้นะคะ
ไหนตรงไหนที่หนูทำไม่ได้ ไหนคิดให้แม่ดูซิ หนูคิดแบบไหน แล้วก็ดูลูกค่ะ ให้เขาคิดในแบบที่เขาเข้าใจจนจบก่อน แล้วเราค่อยบอกว่า งั้นดูวิธีแม่นะ ถ้าเป็นแม่ แม่จะคิดแบบนี้ ยุ้ยไม่ได้ใช้การดุ หรือการบอกว่า ลูกทำผิด แต่แม่ทำถูกนะ เราไม่ได้ไปตรวจการบ้านค่ะ เราเข้าไปช่วยเสนออีกแนวคิดที่น่าจะช่วยได้ให้ลูกนะ และเราก็ต้องทำให้ลูกรู้สึกว่า ความพยายามของเรามีผลเสมอ คำว่ามีผลนั้นไม่ได้หมายถึงถูกและผิดนะคะ แค่เขาพยายามที่จะหาวิธีคิด แม้มันจะยังไม่ใช่วิธีที่ได้คำตอบ นั่นก็คือเป็นเรื่องที่ดีแล้ว เรามีหน้าที่ให้กำลังใจค่ะ ช่วยหาข้อมูล ช่วยเสนอแนะ
📌 ปรับปรุงสิ่งที่จะช่วยให้ลูกเข้าใจโจทย์ได้ดีขึ้น
ช่วงเวลาที่เราอยู่กับลูกเวลาลูกทำการบ้านเลข เราจะเห็นจุดอ่อนต่าง ๆ ของลูกค่ะ ลูกคิดแล้วไม่ได้คำตอบเพราะอะไร เช่น
– อย่างปลาทูเนี่ย สูตรคูณเขาไม่แม่น ยังจำไม่ได้ คิดนาน นึกไม่ออก แม่ยุ้ยก็ค่อย ๆ คุยเลยว่า เนี่ยนะถ้าเราท่องสูตรคูณกันได้แม่นขึ้น มันจะได้คำตอบนะ และถ้าเราท่องได้แม่นเราก็จะคิดได้เร็วขึ้น
– บวกลบเลขผิด ลืมทด ลืมยืม แม่ยุ้ยก็จะคุยว่า บวกลบเลขจำนวนที่ไม่มากเนี่ยนะลูก ถ้าเราฝึกทำบ่อย ๆ เราจะทำได้เร็วขึ้นและพลาดน้อยลงนะ
จัดการกับจุดอ่อนต่าง ๆ ให้เป็นเรื่องสนุกค่ะ บ้านเราเลยคิดการเล่นเกมส์บวกเลข ลบเลขขึ้นมา เราจะเล่นกันระหว่างเดินทางไปไหน ๆ เวลาที่ต้องอยู่ในรถ แม่ก็จะเป็นคนบอกโจทย์ขึ้นมา เช่น 100 – 32 เหลือเท่าไหร่ ? หรือ 35 บวกอะไรแล้วได้ 100 คือถ้าเป็นสมัยแม่ก็จะเรียกการคิดเลขในใจ ซึ่งเราก็จะเอาจำนวนง่าย ๆ ทีลูกควรจะบวกและลบได้ไวขึ้นก่อน เราเริ่มกันจาก อะไรบวกกันได้ 10 บ้าง เล่นกันตั้งแต่ลูกยังต้องนับนิ้วเลยนะ จนเขาคล่องขึ้น เราก็ขยับเป็น 50 เป็น 100 ตอนนี้ก็เล่นแบบนี้เวลาเดินทางค่ะ ก็คิดหาโจทย์ใหม่ ๆ มาเรื่อยๆ ตอนนี้จะเป็นเกมส์ หาร 2 คือ แม่บอกตัวเลขโจทย์มา แล้วให้ลูกหาว่า หาร 2 แล้วเหลือเท่าไหร่ ลูกสนุกและก็ได้คิดไปด้วย พ่อก็ขับรถไม่ง่วง
📌 อธิบายสิ่งที่ลูกไม่เข้าใจ ในรูปแบบที่เข้าใจง่ายที่สุด
ลูกจะงงเวลาเจอโจทย์ค่ะ แม่ยุ้ยก็จะสอนเลยว่า อ่านโจทย์แล้ว ลูกต้องคิดเป็น 2 ส่วนนะ โจทย์ให้เราหาอะไร และโจทย์บอกอะไรเรามาบ้าง ? แม่ยุ้ยใช้วิธีการอธิบายง่าย ๆ แบบง่ายที่สุดโดยไม่ต้องใช้วิธีซับซ้อนเลย เอาคิดแบบบ้าน ๆ พื้น ๆ ก่อน บางครั้งก็ใช้การวาดรูป แล้วก็ใส่สิ่งที่่โจทย์บอกในภาพ เพื่อให้ลูกเห็นภาพสิ่งที่มี และสิ่งที่ต้องหาค่ะ
พอเขาเริ่มคิดตามได้ว่า เขารู้อะไร เขาต้องหาอะไร เราก็ค่อย ๆ เอาสูตร เอาทฤษฎีต่าง ๆ มาประกบให้ หรือบางข้อ คิดกันไม่ออกทั้งแม่ทั้งลูก ก็คุยกันเลยว่า แม่คิดออกแบบเนี้ย ได้คำตอบเหมือนกัน หนูเข้าใจไหม ? คือถ้าเจอโจทย์แล้วคิดอะไรไม่ออก คิดแบบง่าย ๆ ไว้ก่อนลูก
พอเขาเข้าใจ เริ่มมองภาพรวมเป็น แยกสิ่งที่ต้องหา กับสิ่งที่โจทย์บอกมาแล้วออก เขาจะเริ่มตีโจทย์ได้
📌 อย่าเพิ่งหวังผลเรื่องความถูกต้อง ให้เน้นที่ความเข้าใจก่อน
การทำเลขสักข้อถูก มันใช้หลายปัจจัยค่ะ และสิ่งสำคัญสำหรับเด็กที่ไม่ชอบเป็นทุนเดิมอยู่แล้วคือ “การหมดกำลังใจ” นะคะ ยุ้ยใช้วิธีการให้กำลังใจลูกเป็นหลักค่ะ ไม่เป็นไรลูก ลองใหม่กัน ไหนลองคิดแบบอื่นดูซิ จะได้คำตอบตรงกับตัวเลือกที่มีไหม ? วันนี้คิดออกข้อเดียวก็ดีใจแล้วค่ะ จากที่คิดไม่ออกเลย พรุ่งนี้คิดได้ 3 ข้อ ก็ดีใจกว่าเดิมอีก เราใช้วิธีค่อย ๆ ขยับตามจังหวะที่ลูกไหวคะ จนมีวันหนึ่งลูกบอกว่า แม่รู้ไหม วันนี้หนูคิดเลขถูกเกือบทั้งหน้าเลยนะ จากที่หนูคิดไม่ออกสักข้อ หนูภูมิใจมาก
นั่นหละคะจุดสำคัญของเรา สร้างความภูมิใจในตัวเองให้ลูก จากที่เขาคิดว่าเขาทำไม่ได้ เขาทำได้ดีขึ้น ดีขึ้นเรื่อยๆ เขาเริ่มเห็นแล้วว่า ตัวเขาทำได้นินา แค่ต้องพยายามคิดหลาย ๆ มุม มองอย่างเปิดใจเท่านั้นเอง
📌 ให้ลูกคิดในแบบของลูกให้เราดูก่อน แล้วถ้าไม่ใช่เราค่อยคิดในแบบของเราให้ลูกดูนะคะ
อย่าเพิ่งตัดสินว่า มันผิด หรือถูกแบบบั่นทอนพลังในการพยายามกันนะ ที่ย้ำเรื่องนี้อีกเพราะ วัยพรีทีน อารมณ์ไม่เอา มันมาไวมากนะคะขอบอก เราต้องใจเย็น ๆ เอาน้ำเย็นเข้าลูบเอาไว้นะ ถ้าบ้านไหนปรับกันก่อนวัยนี้ได้ ก็คงดีมากจะได้ไม่ต้องมาบวกภาวะอารมณ์ลูกเตรียมเข้าสู่วัยรุ่นอีกเด้งนะ
ฟังเขาให้จบ ดูเขาคิดให้เสร็จ แล้วค่อย ๆ เสนอวิธีแบบเรา ให้เขาได้ดู ให้เห็นเองว่า เราคิดต่างจากเขายังไง แล้วคำตอบที่เราได้มันต่างจากเขาเพราะอะไร
ทุกวันนี้ปลาทูเริ่มอ๋อได้ไวขึ้นเวลาแม่คิดแบบของแม่ให้ดู แล้วก็บอกได้ว่า หนูผิดตรงนี้เพราะแบบนี้ ๆ เขาเริ่มเห็นจุดผิดของตัวเองได้ เขาจะระวังจุดเหล่านั้นมากขึ้นค่ะ
📌 ทำให้เลขเป็นเรื่องสนุก ผิดก็ลองใหม่ได้ ไม่ใช่เรื่องแย่
ผิดก็ไม่เป็นไรลูก ลองคิดกันใหม่นะ อย่าไปทำให้ลูกรู้สึกว่า ทำผิดแล้วมันแย่ ทำผิดแล้วมันแก้ไขไม่ได้ ชีวิตจริง ๆ ผิดก็แก้ไขได้ค่ะ สอบตกยังสอบซ่อมได้เลย เปิดโอกาสให้ลูกได้พยายาม ได้ลองคิดหาวิธีใหม่ ๆดูบ้าง อย่าปิดกั้นกันด้วยคำว่า “เธอผิดแล้ว เธอทำไม่ได้อีกแล้ว”
ที่บ้านคิดแข่งกันค่ะ ได้คำตอบไม่เหมือนกันทีไร นี่เป็นเรื่องสนุกใหญ่เลยนะ คอยลุ้นว่า แม่จะผิดตรงไหน ? สร้างบรรยากาศให้มันเป็นบวกเข้าไว้ค่ะ จะได้ไม่ต้องทำการบ้านเลขแล้วน้ำตาหยดแหมะ ๆ เปียกสมุดกันอีก
📌 ฝึกทำโจทย์ปัญหาให้สม่ำเสมอ ไม่เน้นเยอะ แต่เน้นความเข้าใจก่อน
แม่ยุ้ยบอกปลาทูว่า การที่เราเจอโจทย์บ่อย ๆ เราจะได้ฝึกตลอดนะลูก ถ้าเจอโจทย์แบบเดียวกับที่เราเคยทำมาแล้ว เราจะรู้แนวทางการคิดหาคำตอบ เราจะทำได้ไวขึ้น และรู้สึกว่ามันไม่ยาก ทุกวันนี้ถ้าการบ้านไม่เยอะ ก่อนนอนจะทำโจทย์ด้วยกันครั้งละ 1-5 ข้อแล้วแต่เวลาที่มี จากที่ลูกไม่ได้อยากจะทำนัก ทำกันแค่ 2 ข้อ เดี๋ยวนี้มีบางวันที่ ทำไม่ยอมเลิกบอกสนุกดีเหมือนกันแม่
พอความเข้าใจมีมากขึ้น เดี๋ยวเราค่อยเน้นเรื่องความเร็ว ความถูกต้องกันได้ค่ะ เอาให้เข้าใจและเปิดใจกันก่อน