เลี้ยงลูก “แบบแสดงวิธีทำ”
วันที่แม่ยุ้ยเขียนบันทึกเรื่องนี้ คือวันที่ ปลาทูอายุได้ 11 ขวบเกือบครึ่งน่าจะได้ค่ะ ช่วงนี้เป็นช่วงที่เริ่มได้เห็น “ความเปลี่ยนแปลง” หลาย ๆ อย่างในตัวลูก ซึ่งอาจจะมาจากการเปลี่ยนแปลงตามวัย จากวัยเด็ก ที่กำลังจะก้าวเข้าสู่ “ก่อนเข้าวัยรุ่น” หรือวัย pre-teen ที่หลาย ๆ คนเรียกกัน และก็มีหลายอย่างที่ทำให้เราสองคนพ่อแม่ ได้คุยกันถึงประเด็นต่าง ๆ ในเรื่องนี้ว่า หลาย ๆ อย่างที่คนรอบตัวลูกเรา มี feedback กลับมาหาเรา หรือแม้แต่สิ่งที่เราได้เห็นจากตัวลูกเรานั่น สาเหตุมันมาจากอะไรกันบ้าง ซึ่งที่เขียนเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะอยากจะให้คุณแม่ คุณพ่อหลาย ๆ ท่านที่ลูกยังอยู่ในวัยเด็ก ไม่ว่าจะเด็กเล็ก ๆ หรือวัยอนุบาล ได้อ่านกันไว้เป็นข้อมูลนะคะ ข้อไหนเห็นว่าดี นำไปทำตามกันได้เลย แต่ส่วนที่ไหนที่ไม่เห็นประโยชน์ก็แค่อ่านแล้วข้ามมันไปก็พอ แม่ยุ้ยแค่เพียงอยากจะเล่าให้ฟังในฐานะ “แม่ที่เคยผ่านมาก่อน” สำหรับใครที่มีลูกเล็กกว่า
- การมีเหตุและผล : ลูกเรามีเหตุผลนะคะ แม้ว่า เหตุผลของลูกบางครั้ง ก็จะไม่ใช่เหตุผลที่เราจะเข้าใจได้ แต่สิ่งที่เราคนเป็นพ่อเป็นแมเ่ห็นคือ เขามีเหตุผลของเขา และพยายามเอาเหตุผลของเขามาอธิบายให้เราเข้าใจ ซึ่งจุดนี้น่าจะมาจากการที่เรา “ใช้เหตุผล” กับลูกตั้งแต่เล็ก ๆ เลย อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ เพราะอะไร ถ้าทำแบบนี้ ผลมันจะเป็นแบบไหน และถ้าไม่ทำ ผลมันจะเป็นยังไง และการใช้เหตุผลของพ่อและแม่แบบบ้านเราคือ ถ้าเหตุผลไหนโอเค สมควร เรายอม แม้ว่า บางครั้งจะไม่ถูกใจเราไปเสียทุกอย่าง หรือแม้แต่บางทีมันจะไม่ใช่เรื่องที่ดี่ที่สุด แต่ถ้าเหตุผลนั้น มันมีน้ำหนัก เรายอมรับได้ เรายินดีให้ลูกทำ
ไม่ใช่ว่า เหตุผลของพ่อแม่ ถูกต้องเสมอนะคะ ก็มีนะวันที่เหตุผลของเรามีน้ำหนักน้อยกว่าเหตุผลของลูก ซึ่งพวกเราก็จะคุยกันและยอมรับในเหตุผลของลูกนะ เพราะเมื่อวันที่ เหตุผลของเรามีน้ำหนักมากกว่า ลูกก็จะเรียนรู้การยอมรับในเหตุผลของเราเช่นกันค่ะ
- เห็นคุณค่าของทุกสิ่ง : ลูกเราไม่กินทิ้งกินขว้าง ไม่ใช่ของเรื่อยเปื่อย ไม่ใช่เงินฟุ่มเฟือย เรื่องนี้บอกเลยว่า เพราะเราไม่ได้มีมากมาย เราจะใช้จ่ายอะไรกันที เราพยายามคิด ว่ามันคุ้มค่าเงินที่เราต้องจ่ายไหม ? แม่ก็จะบอกลูกเสมอ ว่าเงินทองไม่ได้หาได้ง่าย ๆ แม้เราจะหาได้ ก็ไม่ได้แปลว่าเราจะใช้จ่ายยังไงก็ได้ ทุกบาทมีค่าเสมอนะลูก อาหาร เสื้อผ้า และของใช้ ล้วนแต่ต้องใช้เงินซื้อทั้งนั้น ดังนั้นก่อนซื้อ คิดให้ดีว่าหนูจะใช้มันได้อย่างคุ้มค่า และสมเหตุสมผล เราค่อย ๆ ฝึกลูกจากการที่เราทำเป็นตัวอย่างเอง ทั้งในภาคบังคับ คือ ช่วงเวลาที่ภาวะการเงินตึงตัวจริง ๆ และในช่วงเวลาที่ภาวะการเงินคล่องตัว เราก็ต้องรู้จักคิดก่อนใช้เช่นกัน คือลูกก็ดูเราเป็นตัวอย่าง และก็ค่อย ๆ สอน ค่อย ๆ บอกกันไป
เรื่องนี้ต้องใช้เวลานะคะ สอนกันได้ตามวัย บ้านเราเพิ่งจะได้เห็นผลลัพธ์ว่า สิ่งที่สอนและลูกเห็นสะสมมาหลายปี ทำให้เขาซึบซัมไปอย่างไม่น่าเชื่อจริง ๆ
- ความรับผิดชอบ : เราฝึกให้ลูกรู้จักรับผิดชอบตัวเองก่อน สิ่งที่จะต้องทำเอง จัดการตัวเอง เช่น ตื่นนอนต้องทำอะไรบ้าง อาบน้ำ แปรงฟัน สระผม ทำเองนะ ค่อย ๆ สอนกันไปตามวัยของเขา เล่นแล้วต้องเก็บ ทำหก ทำเลอะต้องทำความสะอาดเอง พอโตมีการบ้าน ก็ค่อย ๆ ฝึกกันว่าต้องทำการบ้านเองนะ จดการบ้านมาให้ครบ จะต้องเตรียมอะไรไปโรงเรียน ก็ต้องบอกแม่ล่วงหน้า สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้มันรวมกันมาจนถึงวันที่ลูกค่อย ๆ โต เราค่อย ๆ เห็นว่า เขาดูแลในเรื่องต่าง ๆ ของตัวเองได้อย่างเหมาะสม จะมีหลุดบ้าง พลาดบ้าง ก็เรียนรู้กันไปค่ะ
ต้องขอบอกว่าเราใช้การแนะนำ และให้ลูกรับผลของการกระทำด้วยตัวเองเป็นหลัก เราบอก เราะแนะนำนะ แต่เราไม่ได้ทำให้ ถ้าลูกไม่ทำ ผลคืออะไร ลูกรับเองนะ แต่เราจะไม่ซ้ำเติมในวันที่ลูกเลือกที่จะไม่ทำนะคะ เราแค่รอให้ลูกรู้สึกได้เองว่า เพราะแบบนี้นี่เอง สิ่งที่ต้องเจอมันมาจากอะไร แล้วเราก็สอนให้ลูกมองสิ่งที่ทำไปแล้วเป็นประสบการณ์
แม่ยุ้ยเลยมานั่งคิดว่า หลาย ๆ เรื่องที่เราเริ่มเห็นผลลัพธ์ในวันนี้ มันมาจากการสอนกันแบบ “แสดงวิธีทำ” เหมือนเราทำโจทย์เลขเลย เราคิดแบบนี้ มีขั้นตอนวิธีคิดแบบนี้ เราอธิบายให้ลูกได้เห็น ทำให้ลูกดู รับผลเองในสิ่งที่เราทำ และให้ลูกรับผลเองในสิ่งที่ลูกเลือก เขาเห็นผลลัพธ์จากชีวิตเรา และคนรอบ ๆตัว เป็นตัวอย่าง วันนี้ลูกเริ่มมี “กระบวนการคิด” และ “การจัดการปัญหา” แบบเป็นขั้นเป็นตอน มีการจัดลำดับความสำคัญ
เราไม่ได้จะบอกว่า “ลูกเราทำได้ดีทุกเรื่องนะคะ” มีหลาย ๆ อย่างที่ยังเป็น จุดที่ต้องปรับปรุงกันต่อไป มีหลาย ๆ มุมที่ยังเป็นสิ่งที่ลูกยังทำไม่ได้ แต่อย่างน้อย ๆ เราก็เข้าใจแล้วว่า สิ่งที่เราทำให้ลูกเห็น เป็นให้ลูกดู และคอยอธิบายให้ลูกฟัง มันมีผลค่ะ ไม่มากก็น้อย แค่อยากจะบอกคุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ คนว่า ” เหนื่อยกันอยู่ในวันนี้ สักวันเราจะได้ชื่นใจ ” ทำในสิ่งที่เราควรทำต่อไปค่ะ ทำให้เต็มที่อย่างมีเหตุ มีผล เชื่อเถอะค่ะว่า ลูกเห็น
แม่ยุ้ยเองก็ได้เห็นผลแล้วบ้างในวันนี้ จากการสอนลูกในบ้าน ทำกับข้าวด้วยกัน ชวนกันทำงานบ้าน ชวนกันคุยเล่นก่อนนอน อ่านนิทานด้วยกัน ด้วยความเชื่อเสมอว่า “ความใกล้ชิด” ช่วยทำให้ลูกสุขใจได้ เราก็ทำ
#แม่ยุ้ยThePlatuStory