หลายคนมาบ่นปวดหัวกับแม่ยุ้ยเรื่องพฤติกรรมของลูกรัก ไม่ว่าจะเป็น ทำไมลูกใจร้อน ทำไมลูกเอาแต่ใจ พูดไม่ฟัง เลือกกิน เล่นของไม่ถนอม ขว้างของเวลาไม่พอใจ และอื่นอื่นๆ อีกมากมาย มากมาย
คำถามแรกที่แม่ยุ้ยมักจะถามย้อนกลับไปเสมอว่า “แล้วใครทำให้ลูกเห็น” สิ่งต่าง ๆ ที่เด็กแสดงออกมา มันก็ล้วนมาจาก “ต้นฉบับ” ทั้งสิ้น แล้วใครหละเป็นต้นฉบับต่าง ๆ เหล่านั้น คำตอบก็เล่นเอาหลายบ้าน เงียบจุก กันไปก็มี มันก็ไม่พ้น เราหรอกคะ ที่เป็นต้นฉบับ เพราะลูกคือ “เครื่องถ่ายเอกสาร” จำไว้นะคะ ดังนั้นถ้าจะแก้สำเนาให้ถูกต้อง เราก็ต้องแก้ต้นฉบับให้ดีก่อน
ทำไมลูกเอาแต่ใจ ก็เพราะมีคนตามใจ เด็กรู้ว่า เอาแต่ใจแล้วชนะไงคะ ลองให้เค้าดีดให้สุด ดิ้นให้หมดแรง แล้วไม่มีใครตอบสนองดูซิ สมองน้อย ๆ ก็จะค่อย ๆ เรียนรู้เองว่า “วิธีนี้ไม่เวิร์ก เลิกใช้ได้” เขาก็จะหาวิธีอื่น ๆ มาให้เรารับมือต่อไป
ทำไมลูกเลือกกิน ก็เรามีให้เค้าเลือกมาก และเลือกได้ เขาก็เลือก ลองไม่มีให้เลือก มีแบบนี้คะ กินไหม ไม่กินก็ไม่มีแล้ว ก็เลือกไม่ได้คะ ไม่กินก็หิว ก็เลือกเอานะลูก จะเอาแบบไหน
นี่เป็นสองตัวอย่างเล็ก ๆ น้อย ๆ พอหอมปากหอมคอ ประเด็นที่ต้องการจะสื่อคือ “สำรวจตัวเองก่อนเสมอ” ย้อนมองตัวเราเองก่อนคะ อะไรที่เราเป็นต้นฉบับที่ไม่ดีให้ลูก แก้ที่เราให้ได้ก่อนนะคะ
แม่ใจร้อน คงสอนลูกให้ใจเย็นไม่ได้
แม่มือเติบ คงสอนลูกให้ประหยัดไม่เป็น
แม่กินทิ้ง กินขว้าง คงสอนลูกให้กินข้าวหมดจานไม่ได้
แม่ขี้โมโห จะสอนลูกให้ใจเย็นได้ไหมหละคะ
ถ้าแม่รอไม่เป็น ลูกจะรู้จักรอไหม
พยายามแก้จากเราก่อนนะ แล้วระหว่างปรับปรุง ค่อยๆ บอกลูกไปคะว่า แม่กำลังพยายามปรับปรุงแก้ไขให้เป็น “แม่ที่น่ารัก” อยู่นะจ๊ะ อะไรที่แม่ทำแล้วไม่น่ารัก แม่จะบอกนะ แล้วหนูอย่าทำตามนะ เดี๋ยวจะไม่น่ารักแบบแม่นะ แต่แม่จะน่ารักเร็ว ๆ นี้แล้วหละลูก มาน่ารักพร้อมๆ แม่ไหมจ๊ะ
ลองกลับไปทบทวนและเริ่มทำตัวเป็นต้นฉบับที่น่ารักกันดีกว่าคะ เพราะการยอมรับและแก้ไข ถือเป็น “ตัวอย่างที่ดีที่สุดให้ลูกนะคะ” เพราะการยอมรับทำให้ ข้อบกพร่องถูกแก้ไข แต่ถ้าไม่ยอมรับ ยืนกรานว่าฉันถูก ฉันใช่ ก็กอดข้อเสีย จุดบอดไว้กับตัว จนเน่าตายไปพร้อมกันหละคะ
#แมุ่ย้ยThePlatuStory