ออมอย่างสุขใจ
มีคุณพ่อ คุณแม่หลายคนถามเข้ามาเยอะเลยคะว่า
แม่ยุ้ยทำอย่างไรให้ลูกรู้จักใช้เงิน และออมเงินคะ
เรื่องการใช้เงิน แม่ยุ้ยมีเขียนไปแล้วนะคะ ตอนนึง
เอามาแปะไว้ให้ก่อน เผื่อใครยังไม่ได้อ่านสำหรับการใช้เงิน
วันนี้แม่ยุ้ยจะมาเล่าถึงแนวคิดของเด็กปลาทูที่บ้าน เรื่องการออม
เมือแม่ให้เงินค่าขนมกับปลาทู แม่ไม่เคยเข้าไปยุ่งวุ่นวายเลยว่า
ห้ามใช้หมด ต้องเหลือมาบ้าน อย่าแบบนี้ หยุดแบบนั้นนะ
เพราะเหตุผลเดียวคือ เราให้ลูกแล้ว จะใช้อย่างไรคือสิทธิ์ของลูก
แต่สิ่งที่แม่อย่างเราจะทำได้คือ สอนให้ลูกรู้คะ
แม่ยุ้ยใช้คำว่า “สอน” นะคะ ไม่ใช่ “สั่ง”
สองคำนี้อาจจะปนเปกันไปจนหลายบ้านแยกไม่ออก
สอนคือ แม่ให้แนวทาง ลูกจะทำไม่ทำ แล้วแต่ลูก
แต่แม่ให้ข้อดี ข้อเสียไปว่า ถ้าทำจะเกิดไร ถ้าไม่ทำจะเกิดไร
ส่วนการ สั่ง คือ ถ้าไม่ทำตาม แม่จะดุ แม่จะโกรธ หรือแม่จะปรี๊ด
พอจะแยกได้กันหรือยังจ๊ะ ว่ามันต่างกันนะ !!!
และการสอนของแม่อย่างแม่ยุ้ยนั้น
เราไม่โน้มน้าวออกแนวชักจูงชี้นำจนเงินงาม
เพียงเพราะอยากให้ ลูกได้คิดเอง และเข้าใจถึงผลดีผลเสียจริง ๆ
อยากจะให้ลูกเชื่อ เชื่อด้วยประสบการณ์เองจากใจ
ไม่ใช่ แม่บอกว่า แบบนี้ดี แแบบนี้ใช่ ถ้าทำแบบนี้นะ แม่จะว่าโอเคมาก
เด็กหลายคนถึงได้ตัดสินใจตามคำของแม่ ว่าแม่ว่ามันดี หนูก็ว่าดี
สุดท้ายเด็กตัดสินใจเพราะอะไรคะ ก็ไม่ใช่ด้วยตัวเองอยู่ดี
เมื่อได้เงินไปแล้ว เงินในกำมือนั้น อยู่ที่หนูจะใช้แล้วลูก
เวลาจะขอแม่ซื้อของเล่นใหม่ หรืออยากเรียนอะไร
แม่จึงมีข้อตกลงเพิ่มเติมขึ้นว่า แม่ออกเท่านี้ หนูต้องช่วยออกเท่าไหร่
เพราะแม่แบ่งเงินส่วนหนึ่งที่แม่มี เป็นเงินที่จ่ายให้หนูแล้ว
สัปดาห์ละ 100 บาทของลูก ดังนั้นถ้าอยากได้อะไร เราต้องช่วยกันจ่าย
อย่างเช่น คอร์สศิลปะที่จะเรียนปิดเทอมนี้ ราคา 3800 บาท
แม่จะออกให้ 3000 บาท ปลาทูจะออกเงิน 800 บาท
ซึ่งเงินทั้งหมดที่เธอมีตอนนี้ 1800 บาทมันยิ่งใหญ่ มหาศาลมาก
เมื่อลูกเรียนรู้ได้ว่า อยากได้อะไร ต้องจ่ายเงินด้วย
กระบวนการคิดของเด็กจะเริ่มขึ้นคะ
อยากได้ของเล่น อ๋อ ต้องจ่ายด้วย 200 บาท
งั้นจากที่กินขนม 20 บาทหมดรวดเดียว ก็เก็บกลับมา เท่านี้เท่านั้น
แต่จะบอกว่า ด.ญ.ปลาทูได้เงินไป โรงเรียนเดือนแรก
เธอซื้อเรียบคะ กินทุกอย่างที่มีขาย ที่อยากกิน
แม่ก็ปล่อยคะ เอาให้เต็มที่ เอาให้สุดเลยลูก
เพราะแม่ยุ้ยเชื่อว่า คนเรา ถ้าลองซะให้รู้เสียหมดแล้ว มันก็จะเบื่อเอง
แล้วหลังจากเดือนแรก เงินแทบไม่ได้ใช้
กลไกการเรียนรู้แตกต่าง แจกเงินเพื่อนก็มี เพื่อนมาขอแล้วให้ก็มี
แต่หลัง ๆ พอเจอหลาย ๆ เคสเข้า เก็บเงินกลับมาบ้านหมดเลย
อย่างมาก อาทิตย์ละครั้ง หรือสองอาทิตย์ครั้งที่จะกินไอติมสักที
รู้แล้วทีบ้านแม่ก็มีแช่ไว้ให้ .. ขนมที่บ้านแม่ก็ทำรอ
จะใช้ทำไม หนูเอาเงินมาเก็บดีกว่า !!! น่านไง เลือดแม่มันแรงแท้
แม่ยุ้ยไม่เคยบังคับ .. ต้องหยอดกระปุกเท่านี้ เท่านั้น ตอนนี้ตอนนั้น
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านนี้คือ วันดีคืนดี เอาขวดน้ำเกลือที่แม่เก็บไว้
มาบ้าง เปิดฝา วาดรูปข้างขวด “หนูอยากซื้ออะไรบ้าง”
พร้อมป้ายกำกับ แล้วเรียกแม่กับพ่อมานั่งฟังคำอธิบาย
หนูจะเก็บเงินซื้อของนะแม่กับพ่อ
อันไหนที่เราใช้ด้วยกัน เราต้องช่วยกันเก็บ
พ่อกับแม่อยากได้มอเตอร์ไซต์เหมือนหนูไหม ถ้าใช่ มาหยอดเงินด้วย
แล้วถ้าใครช่วยกันหยอด หนูจะแบ่งให้นั่ง
ป๊าดดดด !!! แล้วไงคะธิดาม้าเคิฟ
ถ้าพ่อเธอไม่หยอด เราหยอดกันสองคน ใครจะขับคะ ถามหน่อย ?
หรือว่า พ่อไม่หยอด แต่พ่อจะได้ขับ เพราะพ่อขับได้คนเดียว
เธอตอบข้อสงสัยของแม่ในที่ประชุมว่า
ก็ถ้าใครไม่หยอด ก็ไม่ได้เป็นเจ้าของด้วยกัน
แค่ให้ยืมขับ ยืมนั่งพอ
สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้คืออะไร ??
คือการเรียนรู้จากประสบการณ์ และประมวลผลด้วยซีพียูอายุ 7 ขวบคะ
ซึ่งเกิดจากการเรียนรู้ผ่านการ สอน และได้ทำอย่างเต็มที่
ไม่ใช่ทำเพราะถูกสั่ง การแตกกิ่งก้านของความคิดมันกระจายออกผิดกัน
และจะบอกว่า บ้านนี้ถ้าเงินไม่พอ ไม่ซื้อนะคะ !!!
คำว่า ซื้อก่อน ผ่อนทีหลัง เราไม่สอนลูก
เพราะเราไม่นิยมการเป็นหนี้พร่ำเพรื่อ
ว่าแล้วก็ ต้องหาเงินไปหยอดกระปุกมอเตอร์ไซต์ก่อนนะ
เดี๋ยวเจ้าของโปรเจคเขาจะไม่ให้นั่งด้วย