ทำอย่างไรเมื่อสมาร์ทโฟนบุกเด็ก
เป็นแม่ยุค 4.0 ไม่ง่ายนะคะ สิ่งเร้ารอบตัวลูกมันเยอะแยะมากจริง ๆ แค่เรื่องสมาร์ทโฟน แท็ปเล็ต ก็เล่นเอาปวดหัวกันไม่น้อยแล้วค่ะ มีหลายคนสอบถามมาว่า แม่ยุ้ยจัดการกรับเรื่องนี้ยังไงเหรอคะ อยากรู้แนวคิด วิธีปฎิบัติของบ้านเรา
เล่ายาวนะคะเรื่องนี้ … เตรียมตัวอ่านกันได้เลย
แม่ยุ้ยก็เป็นแม่ที่เคยพลาดพลั้งกับอุปกรณ์เหล่านี้ในการเลี้ยงลูกมาก่อนค่ะ สมัยลูกเล็ก ไม่ได้อยู่เลี้ยงเองตลอด ก็เป็นธรรมดาที่ การ์ตูนในจอทีวี เปิดจากแผ่นซีดี หรือเปิดจากมือถือ เป็นตัวช่วยให้เด็กนิ่งอยู่ได้ และเป็นตัวช่วยสำคัญในการป้อนข้าว เพราะลูกกินยาก เราพลาดกันมาแล้ว เราไม่อยากให้ใครพลาดอีก
ลูกเล็ก ๆ ไม่ควรให้ดูเลยจะดีมาก ๆ นะคะ เพราะ การ์ตูนมันเคลื่อนไหวไวมาก พอต้องอยู่กับคน หรือเริ่มไปโรงเรียน ครูไม่ได้เคลื่อนไหว และสีสีสันน่าสนใจเท่าการ์ตูน เป็นอันจบกันนะคะ เด็กก่อนวัยเรียนไม่ควรดูเลยนะจากใจจริง แต่สมัยตัวเองทำไม่ได้ค่ะ บอกกันตามตรง เพราะไปทำงาน กลับถึงบ้านก็จะสองทุ่มแล้ว เช้าเจ็ดโมงก็ไปแล้ว แล้วสมัยนั้นไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ ให้พ่อแม่ได้ศึกษามากมายเท่าเดี๋ยวนี้นะคะ ภัยและโทษยังไม่มีให้เห็นกันจะ ๆ เท่ายุคนี้
แม่ยุ้ยเริ่มออกจากงานประจำมาดูแลปลาทูเองตอนช่วงลูกอนุบาล 1 พอมีเรา ก็เริ่มเข้ามาแทนที่มือถือได้มากขึ้น แต่ก็ยังดูอยู่ เพราะบอกตรง ๆ บางทีเราก็เหนื่อย และช่วงเวลาบางช่วงเราก็ต้องทำงาน ก็ใช้เป็นตัวช่วยให้แม่ได้หายใจบ้าง แต่น้อยลง สมัยนั้นยังไม่จับเวลาเลย
มาเริ่มกันจริงจังตอนประถมค่ะ เราเริ่มเล่นกับลูกได้มากขึ้น พยายามเครียงานในช่วงเวลาที่ลูกไปโรงเรียนกันมากขึ้น และบ้านเราเปิดทีวีกันน้อยด้วย แท็ปเล็ตไม่มีค่ะ ไม่ซื้อ ไม่มีตังค์ ทีวีมีก็นานมาก ๆ จะเปิดสักที จะมีให้ลูกดูคลิปอยู่บ้าง เรื่องนี้มันต้องแลกกันจริง ๆ ถ้าเราไม่อยากให้เขาดู เราต้องเล่นด้วย หรือหาอะไรให้ทำ
สักช่วง ป.3 เราใช้การจับเวลาค่ะ ให้ดูได้ครั้งละไม่เกิน 30 นาที ก็ถือเป็นการใช้สิทธิ์กันในแต่ละวัน ที่ลูกจะเล่นเกมส์มือถือได้แต่ เราจะอยู่ด้วย เราจะรู้ว่าเขาเล่นอะไร พอช่วง พอช่วง ป.4 เพื่อน ๆ ที่โรงเรียนเริ่มมีมือถือกันค่ะ ตอนเรียนครูให้ฝากไว้ หลังเลิกเรียนถึงจะได้คืน เพราะผู้ปกครองหลาย ๆ บ้านจะเอาไว้ใช้โทรนัดเพื่อรับลูก แต่แม่ยุ้ยก็ยังไม่ให้ปลาทูเอามือถือไปนะคะ จนถึงกระทั้งตอนนี้ แต่ช่วง ป.5 ก็มีช่วงวันหยุดจะให้เล่น 1 ชม.
สิ่งที่เห็นคือ เด็ก ๆ หลังเลิกเรียนก็จะนั่งรวม ๆ กันเล่นเกมส์ ลูกเราไม่มีมือถือ ก็ไปนั่งดูเพื่อนเล่น อันนี้บอกเลยค่ะว่า “ทำใจ” และคิดอีกมุมว่า เราปิดหู ปิดตาลูกไม่ได้ แม่ยุ้ยเลยเริ่มสอนปลาทูตั้งแต่ช่วง ป.4 ค่ะว่า การดูมือถือมากไป จะเกิดอะไรขึ้น ในมือถือมีอะไรที่เป็นอันตรายกับหนูได้บ้าง เพื่อน ๆ เริ่มใช้ไลน์คุยงานกัน แม่ก็เลยให้ใช้มือถือเก่าพ่อ ไม่ใส่ซิม ใช้ wifi ที่บ้าน เอาไว้คุยไลน์กับเพื่อน
มีหลาย ๆ อย่างที่ลูกกลับมาเล่าให้ฟังจากการที่เพื่อน ๆ ได้เห็น ได้ดูอะไร แบบที่เด็กยังไมควรดู แม่ก็จะอธิบายให้ฟังค่ะ ว่ามันเป็นอะไรยังไง เด็กยุคนี้ เขาได้รับรู้อะไรเร็วกว่ายุคเราเยอะมาก ๆ จริง ๆ ค่ะ เราต้องใช้การตั้งรับให้มาก ให้ข้อมูลลูกให้เพียงพอ ว่าอันไหนควร อันไหนไม่ควร อันไหนดี อันไหนไม่ดี เพราะหลาย ๆ อย่าง ลูกไม่รู้จากเรา เขาก็รู้จากเพื่อนค่ะ
และการใช้ cyber bullying ก็ใกล้ตัวลูกมาก ทุกวันนี้ปลาทูจะมีแค่ไลน์ ยังไม่มี facebook นะคะ เรายังไม่อนุญาตเพราะแม่ยุ้ยคิดว่า เด็กยังกลั่นกรองไม่ได้ อันไหนควรเล่าสู่สาธารณะ อันไหนไม่ควร และการรับรู้ในสิ่งที่ถูกพูดถึงจากสื่อสาธารณะ อันไหนควรเอามาใส่ใจ อันไหนควรปล่อยผ่าน
สุดท้าย .. ครอบครัวต้องแข็งแรงค่ะ เราต้องใกล้ชิด พร้อมจะรับฟังและเข้าใจโลกไปพร้อม ๆ กับลูกนะคะ วันนี้เราหนีไม่พ้น เราตามปิดหู ปิดตาเขาไมได้ แต่เราก็พยายามสร้างภูมิต้านทานให้เขาได้