Open House
ปกติทางโรงเรียนจะมีวัน Open House ให้ผู้ปกครองได้มีโอกาสเข้าไปดูการเรียนการสอนในห้องเรียน ปีละครั้งกันนะคะ ปีที่แล้วแม่ยุ้ยก็ไปดูวิชาวิทยาศาสตร์สมัยปลาทูเรียน อ.3 ก็สนุกสนานกันใหญ่ ปีนี้ทีแรกตั้งใจว่าจะไม่ไปเพราะบอกเลยว่า ช่วงนี้ ชีวิตหลายอย่างมาก แต่ลูกบอกว่า แม่ไปดูเหอะนะ ไปนะ ไปนะ โอเค ไปก็ได้ แต่คืนก่อนจะถึงวัน มีกลับมาบอกแม่ว่า “แม่อย่าไปเลยดีกว่า หนูคิดใหม่แล้ว” แหม !!! ยิ่งทำให้อยากไปซิทีนี้ มีอะไรกันน๊าาาา ทำไมมาเปลี่ยนใจไม่อยากให้แม่ไป
เวลาไปดูการเรียนการสอน สิ่งแรกเลยที่แม่ยุ้ยจะดูคือ สภาพลูกตัวเอง เวลาอยู่ในห้องเรียน แต่บอกได้เลยว่า 100 ทั้ง 100 เด็กตื่นเต้นมากแน่นอนคะ อยู่ ๆ มีพ่อแม่ มานั่งดูเต็มไปหมด แล้วบางทีก็พ่อแม่ที่เป็นผู้ปกครองจากข้างนอกด้วย ปีนี้พิเศษยิ่งกว่าสำหรับปลาทู ช่วงนี้ มีหลายคนตามไปดูโรงเรียน แล้วแอบทักทาย ด.ญ.ปลาทูกัน ต้องขอกราบงาม ๆ ในความเอ็นดูที่มีให้กันนะคะ ปลาทูกลับมาเล่าอยู่หลายครั้งว่า มีคุณแม่คนนึงมาดูโรงเรียน มีคุณครูพามา เดินเจอหนูทำไมเค้ารู้จักชื่อหนูด้วย เรียกน้องปลาทู ปลาทู แต่หนูไม่รู้จักเค้าเลยนะแม่ แม่ก็เลยถามว่าแล้วลูกทำไง สวัสดีคะรึเปล่า หรือว่ายังไง เมื่อสัปดาห์นี้ก็มีมาเล่าว่าได้ยินคุณแม่ทีไ่ปดู Open House พูดว่า นี่ไงน้องปลาทู คนนี้ไง ก็สงสัยมากมายว่า ทำไมเค้าต้องรู้จักหนูด้วยหละแม่ จะบอกว่า แม่ยังไม่มีคำอธิบายให้เด็กเข้าใจได้กระจ่างนักนะคะ ไว้จะมายกยอดเขียนให้ฟังตอนหน้านะคะ วันนี้เอาเรื่อง Open House ก่อนดีกว่า
นี่คะสภาพลูกดิฉัน เมื่อเรียนไปได้ครึ่งชั่วโมง ไม่ใช่ครูสอนไม่สนุกนะคะ เพราะแม่ก็นั่งอยู่ด้วย แต่อารมณ์ไหนไม่รู้ หัวโต คงหนัก พักหัวสักหน่อยดีกว่า แต่สักพักครูไทยที่เป็นผู้ช่วยก็มาคอยสะกิดว่า ลุกคะลุก ก็กลับมาตั้งคอ เรียนหนังสือต่อเช่นกัน สิ่งที่แม่คอยดูในช่วงระยะเวลาการสอนนั้น คือ
1. ลูกเราป่วนห้องเรียนไหม ลุกเดินไปมาจากเก้าอี้หรือเปล่า : ประเด็นนี้ต้องขอบอกเลยว่า แม่ยุ้ยเจอปัญหานี้กับตัวเองมาแล้ว สมัยอนุบาล ปลาทูเป็นเด็กนั่งไม่ติดเก้าอี้ ลุกเดิน บางทีเดินออกนอกห้องกันไปเลยคะ แล้วพอตัวเองไม่สนใจ ก็ป่วนเพื่อน ป่วนห้องเรียน แม่ได้รับ comment จากครูผู้สอน ให้ปรับแก้ไขเรื่องนี้ของลูกให้ดีขึ้น เราก็กลับมาคุยกัน ว่า เอ๊ะ เวลาเรียน มีใครลุกเดินไหมน๊าาาา คำตอบคือ ก็มีเพื่อนเดินนะแม่ แต่เพื่อนเดินหลายคนไหม หรือว่าถ้าเพื่อนลุกเดินกันทุกคน ลูกว่า จะเกิดอะไรขึ้นนะ บอกแม่ซิ ทีนี้ห้องเรียนก็กลายเป็นสนามกันเลยใช่ไหม แล้ว Teacher จะสอนยังไงหละทีนี้ ค่อย ๆ อธิบายไปคะ แล้วระหว่าง อยู่บ้าน ยุ้ยก็ฝึกลูกด้วย ทานข้าวไม่ลุกเดินนะลูก กลับมานั่ง ทำการบ้าน ไม่ลุกเดินนะลูกกลับมานั่ง คอยกระตุ้นให้เค้ารู้ตัว และรู้จักควบคุมตัวเองให้ดีขึ้น ยุ้ยใช้เวลาประมาณเทอมนึงคะ ในการปรับเรื่องนี้ของลูก ซึ่ง ณ วันนี้ เอาหัวพับกับโต๊ะ ดีกว่าเดินป่วนห้องมากสำหรับแม่ยุ้ยนะ
2. เวลา Teacher ถาม ลูกฉันยกมือตอบบ้างไหมหนอ : ซึ่งเรื่องนี้ ปลาทูผ่านฉลุยคะ แต่แม่ยุ้ยดูเรื่อง การตอบคำถามให้ถูกต้องตามขั้นตอนด้วยนะคะ นั่นคือ “ยกมือ รอ Teacher เรียกชื่อให้ตอบ แล้วจึงตอบ” เพราะเรื่องนี้แม่ยุ้ยก็ได้รับ comment มาจากสมัยเรียนอนุบาลเทอมแรกที่เข้ามาที่นี่เช่นกันว่า ลูกยูวไม่รอเรียก อยากพูดพูดเลย ก็เป็นการบ้านอีกข้อของแม่ ที่จะต้องกลับมาอธิบายที่บ้านเพิ่มเติมว่า เมื่อไหร่ที่เราจะตอบได้ เพราะอะไรถ้าเด็กทุกคนยกแล้วพูดหมด Teacher หูอื้อพอดีลูกเอ๊ย ตะโกนแข่งกัน ทีนี้ไม่รู้แล้วใครตอบถูกตอบผิด ปีนี้ ถือว่า ปลาทูผ่านคะ ยกมือ รอเรียก และค่อยตอบ ตาม step เป๊ะ อันนี้แม่ปลื้มแล้ว เพราะสิ่งที่เราพร่ำสอน มันเกิดผลแล้ว
3. ลูกเราคุยไม่หยุดไหมเนี่ย : เรื่องนี้บอกเลยว่า “แก้ไม่หาย” แต่ลดลงบ้างแล้ว ครูประจำชั้นก็มีคุยกับปลาทูแล้วว่า “ต้องปรับปรุงนะจ๊ะ” เพราะชวนเพื่อนคุยเหลือเกิน นี่กลับจาก Open House แม่เลยต้องถามว่า เพื่อนนั่งข้าง ๆ ชืออะไรลูก แม่เค้ามารึเปล่า ได้คำตอบว่า แม่เค้าไม่มา เลยบอกว่า “ลูกรู้ไหมว่าถ้าแม่เพื่อนคนนั้นมา เค้าอาจจะต้องต่อว่าแม่แน่ ๆ ว่า ทำไมลูกแม่ชวนลูกเค้าคุยบ่อยจัง เค้าส่งลูกเค้ามาเรียนหนังสือนะ” ต้องขอโทษคุณแม่น้องคนข้าง ๆ ไว้ ณ ตรงนี้ด้วยนะคะ เผื่ออ่านอยู่ แต่แม่ยุ้ยก็พยายามกำชับปลาทูแล้วนะคะ เรื่องนี้ก็ต้องปรับปรุงกันต่อไป
สิ่งต่าง ๆ ที่เห็นโดยรวมในห้องเรียน คือพฤติกรรมของเด็ก ๆ แต่ละคนที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งถ้าพ่อแม่ของเด็ก ๆ มาดูลูกกัน ยุ้ยว่าก็เป็นการดีนะคะ ได้เห็นว่า เวลาเรียนหนังสือ ลูกเราเป็นยังไงบ้าง มีอะไรต้องปรับปรุงแก้ไขไหม การเรียนการสอนของครูก็เป็นส่วนหนึ่งที่เราจะได้เห็นเช่นกัน สำหรับแม่ยุ้ยแล้วบอกตามตรงเลยว่า “ส่งลูกมาโรงเรียน ยุ้ยมอบอำนาจให้ครูเป็นผู้จัดการ” เพราะด้วยเหตุผลที่เราพยายามอยู่ในกรอบ กติกา และพื้นที่ที่พ่อแม่ควรอยู่ในความเหมาะสม เราเองมีหน้าที่สอนลูกให้เข้าใจ กติกา กฎระเบียบและ วินัย ทีลูกต้องมี เมื่อส่งลูกมาโรงเรียน พอถึงโรงเรียน ก็ถือว่าเป็นพื้นที่ของครู ปัญหาที่ต้องปรึกษากัน แม่ยุ้ยก็พูดคุยกับครูในกรณีที่จำเป็นต้องช่วยกันแก้อยู่สม่ำเสมอ เหมือนที่เล่าให้ฟังจากการใช้ชีวิตอนุบาล 3 ที่โรงเรียนนี้ เพราะเราต้อง “ช่วยกัน ระหว่างบ้านและโรงเรียน” อย่างต่อเนื่อง
ถ้าเราไม่แน่ใจ หรือไม่มั่นใจในกระบวนการ หรือมาตราฐาน รวมถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาของโรงเรียน เราก็คงกังวลไปเรื่อย ๆ แต่สำหรับยุ้ยแล้ว ยุ้ยมีความมั่นใจในสิ่งที่ยุ้ยเห็น และรับรู้ด้วยตัวเองอยู่เสมอ เพราะยุ้ยมาโรงเรียนบ่อย ยุ้ยพูดคุยกับครูเป็นระยะ และยุ้ยสอนการบ้านเอง ดูแบบฝึกหัดที่ลูกเอากลับมาตลอด จึงไม่ค่อยรู้สึกว่ามีปัญหาอะไรในการเรียนการสอนของครูที่นี่ ถึงจะมีปัญหาเกิดขึ้น ถ้าเราแก้ปัญหาร่วมกัน ทุกอย่างมันจะดีขึ้นคะ
แม่ยุ้ยเองผ่านโรงเรียนมา 3 ที่ในระยะเวลา 4 ปี เจออะไรมากไม่น้อยเลยทีเดียว และก็ได้แง่คิดในการแก้ปัญหาของลูกเกี่ยวกับเพื่อนและโรงเรียนมาพอสมควร ในวันนี้บอกได้คำเดียวว่า “ทำหน้าที่ของเราไปให้ดีที่สุดคะ” ไม่ว่าจะในมุมของพ่อแม่ และผู้ปกครอง และเคารพในพื้นที่ของกันและกัน ยุ้ยไมเ่คยโกรธที่ครูจะลงโทษลูก ในแบบฉบับที่สมเหตุสมผล เพราะถ้าเราไม่ให้ครูลงโทษเด็กเลย ครูก็ควบคุมเด็กไม่ได้ บางครั้งก็แอบเห็นใจครูในยุคนี้เช่นกันว่า พ่อแม่ผู้ปกครอง ค่อนข้างจะมีความต้องการและความคาดหวัง สรรพสิ่งจากครูสูง และเข้ามามีบทบาทในการจัดการเรื่องราวต่าง ๆ ของโรงเรียนค่อนข้างมาก ผิดกับยุคสมัยเราจริง ๆ แล้วเคยย้อนมองไหมคะว่า ผลลัพธ์ของเด็กเดี๋ยวนี้ กับเด็กรุ่นเราต่างกันไหม ในแง่ของความอิสระจนเกินขอบเขต ระเบียบวินัยไม่มี ควบคุมตัวเองไม่ได้ แลดูว่าอาชีพครูจะมีพื้นที่สบายใจในการทำงานน้อยลงเรื่อย ๆ ถ้าอีกหน่อย ไม่มีใครอยากเป็นครูเลย เพราะทนรับแรงกดดันจากผู้ปกครองไม่ไหว เด็ก ๆ จะหาครูที่ไหนกันหละคะเนี่ย
จากใจเลยนะคะ แม่ยุ้ยเคย เป็น ผู้ที่ต้องยืนหน้าชั้น ให้ความรู้ผู้คนมาก่อน มีคนหลายรุ่น เรียกยุ้ยว่าครู ยุ้ยสอนหนังสือเด็กในมูลนิธิเยาวชนชนบท ตั้งแต่ยังเรียนหนังสือไม่จบ พอเรียนจบ งานแรกที่ทำเลยคือ สอนหนังสือ แถมคนเรียนคือคนทีอายุมากกว่ายุ้ยทั้งสิ้นเลย ประหม่า ตื่นเต้น กดดัน ทุกสิ่ง ในวันแรกที่ต้องยืนสอนหนังสือ แต่อาจารย์ที่เป็นพี่เลี้ยง สอนยุ้ยว่า “วันนี้ เราคือผู้ให้ความรู้พวกเขา สิ่งที่เรามีคือความรู้ที่พวกเขาต้องการจากเรา เราสอนเค้าได้ เพราะความรู้ที่เรามี ไม่ใช่อายุที่เรามีนะ วิชาที่เราสอน คือทฤษฎีซึ่งเด็กจบใหม่ยังแน่น ยังแม่นอยู่ มันก็ไม่ผิดที่เราจะไม่มีประสบการณ์การทำงาน เพราะคนเรียนต้องการทฤษฎีจากเรา ส่วนประสบการณ์ ก็มีครูคนอื่นที่มีประสบการณ์รับผิดชอบอยู่แล้ว ดังนั้น มั่นใจนะ เราผ่านกระบวนการคัดเลิกมาได้ แปลว่าเรามีสิ่งที่อาจารย์ทั้งหลายเห็นว่าเราเหมาะสม” วันนี้มีเหตุการณ์ที่ทำให้ยุ้ย นึกถึงคำสอนของอาจารย์ในคณะท่านนั้น ที่เป็นแรงผลักดันให้ เด็กจบใหม่ คนนี้ สอนหนังสือได้จนครบหลักสูตร และมีลูกศิษย์ที่อายุมากกว่าเป็นสิบปี ยกมือไหว้เรียกเต็มปากว่า ครู